xs
xsm
sm
md
lg

อินโดนีเซียเผยเกินดุลการค้าพลิกความคาดหมายหนุนรูเปียห์แข็งค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        อินโดนีเซียมียอดเกินดุลการค้าเล็กน้อยในเดือนต.ค.หลังธนาคารกลางคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อชะลอเศรษฐกิจและการนำเข้า ซึ่งนโยบายดังกล่าว   มีแนวโน้มที่จะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อยับยั้งความเสี่ยงของการไหลออกของเงินทุนทันทีที่สหรัฐเริ่มปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
        ข้อมูลจากสำนักงานสถิติระบุในวันนี้ว่า อินโดนีเซียมียอดเกินดุลการค้า 50 ล้านดอลลาร์ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบกับผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์โดยรอยเตอร์ที่คาดว่า อินโดนีเซียจะขาดดุล 650 ล้านดอลลาร์
        ข่าวเกี่ยวกับการมียอดเกินดุลการค้าเล็กน้อยนั้นได้ช่วยหนุนรูเปียห์แข็งค่าขึ้นหลังจากร่วงลงมากกว่า 19% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในปีนี้จากความวิตกเกี่ยวกับยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้น
        การขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 2.59% เมื่อเทียบรายปีในเดือนต.ค.  ซึ่งทำให้อินโดนีเซียมียอดเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนส.ค.  หลังจากขาดดุลการค้าติดต่อกัน 5 เดือน ขณะที่การส่งออกร่วงลง 7.55%  ในเดือนก.ย.
        เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนพ.ย.ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผลักภาระต้นทุนที่เกิดจากการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางอินโดนีเซียที่ระดับ 9-9.8% ในปีนี้ 
        อัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบเป็นรายปีเพิ่มขึ้นสู่ 8.37% ในเดือนต.ค. และเพิ่มขึ้น 0.12% เมื่อเทียบรายเดือน   ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหาร ปรับตัวขึ้นสู่ 4.80% จาก 4.73% ในเดือนก.ย.
        นายกันดี คาห์ยาดี นักเศรษฐศาสตร์ของดีบีเอสในสิงคโปร์ระบุว่า "ดูเหมือนมีแนวโน้มเชิงบวกเล็กน้อยในการขยายตัวของการส่งออกไปจนถึงปี 2014" 
        "ในทางตรงกันข้าม การนำเข้าอ่อนแอลงในเดือนส.ค.และก.ย. และเราคาดว่าจะมีการดีดตัวในเดือนต.ค." เขากล่าว
        "ดูเหมือนว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ขณะที่การขยายตัวของการลงทุนอาจจะชะลอลง โดยได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นที่ยังคงอ่อนแอในค่าเงินรูเปียห์"
        ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง รวมถึงสภาพคล่องสกุลดอลลาร์ที่ตึงตัว เป็นปัจจัยผลักดันให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียเปลี่ยนแปลงนโยบายสกุลเงินไปสู่ "การสร้างเสถียรภาพ"  จากการ "หาดุลยภาพใหม่"
        นายออกัส มาร์โทวาร์โดโจ ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าว เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ธนาคารกลางจะไม่ลังเลในการแทรกแซงตลาด โดยระบุว่า การอ่อนค่าของสกุลเงินในขณะนี้เป็นเพียงชั่วคราว
        ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอีก 1.75% นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.เพื่อถ่วงอุปสงค์สำหรับสินค้านำเข้า และสกัดกั้นการไหลออกของเงินทุน
        แต่การคุมเข้มของธนาคารกลางอาจจะเกิดขึ้นอีกในการประชุมนโยบาย วันที่ 12 ธ.ค.เพื่อหนุนความเชื่อมั่น
        "โอกาสของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกนั้นได้ลดน้อยลง แต่ก็ดูเหมือนว่ามีแนวโน้มที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% รวมเป็นการปรับขึ้น  2.00% นับตั้งแต่เดือนมิ.ย." นายโรเบิร์ต พริเออร์-แวนเดสฟอร์ดระบุ  ในรายงานวิจัย 
        ผลสำรวจของเอชเอสบีซี มาร์กิตบ่งชี้ว่า การขยายตัวของกิจกรรมการผลิตลดลงในเดือนพ.ย. ขณะที่บริษัทต่างๆปรับลดปริมาณการผลิตจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะที่ยากลำบาก และแนวโน้มยอดสั่งซื้อใหม่ที่ลดลง ซึ่งตอกย้ำ  ความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของอินโดนีเซียซึ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
        เศรษฐกิจของอินโดนีเซียซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มจี-20 นั้นเผชิญความยากลำบากในการสร้างสมดุลการค้า เนื่องจากมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงและมีการปฏิรูปโครงสร้างที่อ่อนแอ
        ในเดือนก.ค.-ก.ย. ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงสู่ 3.8% ของจีดีพี จาก 4.4% ของไตรมาสก่อน
        แม้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุก รูเปียห์แตะระดับแนวรับสำคัญที่ 12,000 ต่อดอลลาร์ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ขณะที่อุปสงค์ดอลลาร์เพิ่มขึ้นจากบริษัทภายในประเทศ    
        รัฐบาลเปิดเผยในเดือนส.ค.ถึงมาตรการด้านนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อลดการนำเข้าและเพิ่มการลงทุน แต่ยังไม่ได้ประกาศรายละเอียด
        คาดว่าอินโดนีเซียจะประกาศมาตรการด้านนโยบายชุดที่ 2 ใน เดือนนี้ซึ่งจะลดการนำเข้าลงอีก ขณะที่ช่วยหนุนการส่งออกและการลงทุน
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
ทวีสุข ธรรมศักดิ์
Executive Vice President.
RHB-OSK Securities (Thailand)PLC
RHB Banking Group
กำลังโหลดความคิดเห็น