xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญชี้กฎตราสารอนุพันธ์ใหม่ของสหรัฐกระทบสภาพคล่องตลาดเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        ธนาคารบางแห่งของเอเชียและสหรัฐกำลังหาทางหลีกเลี่ยงกฎระเบียบใหม่ของสหรัฐที่ใช้ควบคุมการค้าตราสารอนุพันธ์ ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่ตั้งเป้าที่จะสกัดกั้นการเกิดวิกฤติการเงินแบบในปี 2008 อย่างไรก็ดี เทรดเดอร์กล่าวว่า  ถึงแม้ธนาคารกลุ่มนี้ใช้วิธีการหลีกเลี่ยงในแบบที่ถูกกฎหมาย แต่วิธีการดังกล่าว ก็อาจส่งผลให้ตลาดเอเชียเผชิญกับภาวะขาดแคลนสภาพคล่องอย่างร้ายแรงได้
    ผู้ควบคุมกฎระเบียบของสหรัฐพยายามผลักดันให้การค้าตราสารอนุพันธ์   ในตลาด OTC ที่มีขนาด 693 ล้านล้านดอลลาร์ ถูกโยกย้ายไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีชื่อเรียกว่า Swap Execution Facilities (SEF)  โดยระบบนี้จะช่วยเพิ่มความโปร่งใส และช่วยสกัดการเกิดวิกฤติในรูปแบบของปี 2008 ขึ้นอีก โดยระบบ SEF นี้เริ่มเปิดใช้ในวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา
        เทรดเดอร์คาดว่ามูลค่าการค้าตราสารอนุพันธ์อัตราดอกเบี้ยและสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียมีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อวัน แต่มีเพียงแค่ 10-20 % ของจำนวนนี้เท่านั้นที่ถูกโยกย้ายไปสู่ระบบ SEF ในขณะที่การค้าตราสารอนุพันธ์ที่เหลือมีการชำระบัญชีนอกระบบ SEF หรือมีการชำระบัญชีแบบทวิภาคี โดยการที่สภาพคล่องในตลาดถูกแยกออกจากกันเป็นส่วนๆนี้สร้างความยากลำบากให้แก่นักลงทุนในการทำประกันความเสี่ยงต่อพอร์ทลงทุนของตน โดยเฉพาะในการเทรดล็อตใหญ่
        นักลงทุนในเอเชียกล่าวว่า ตนไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อผูกพันทางกฎหมายที่ร่างโดยคณะกรรมการการค้าสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ (CFTC) ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกฎระเบียบตราสารอนุพันธ์รายใหญ่ของสหรัฐ อย่างไรก็ดี การทำการค้าตราสารอนุพันธ์ใดๆกับคู่สัญญาในสหรัฐจำเป็นต้องกระทำในระบบ SEF ถ้าหากคู่สัญญานอกสหรัฐเคยทำข้อตกลงกับคู่สัญญาสหรัฐเป็นมูลค่าสูงกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 12 เดือนก่อนหน้านั้น
        นายเฟรเดอริค เซิน จากธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิง คอร์ป (OCBC) ในสิงคโปร์ระบุว่า "เราหลีกเลี่ยงการทำข้อตกลงกับคู่สัญญาสหรัฐ ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ห้ามพนักงานของเราจากการเทรดกับคู่สัญญาสหรัฐ โดยถ้าหากคุณจำเป็นต้องเทรดกับคู่สัญญาสหรัฐ คุณก็จำเป็นต้องทำ แต่ถ้าหากคุณมีทางเลือกอื่น คุณก็จงใช้ทางเลือกนั้น ในขณะที่เราต้องการจะควบคุมปริมาณการเทรดให้อยู่ภายใต้เกณฑ์ขั้นต่ำที่ CFTC กำหนดไว้"
        ผู้ที่จะซื้อขายในระบบ SEF จะต้องเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น, ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบมากขึ้น และต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้นธนาคารหลายแห่งในเอเชียจึงต้องการที่จะค้าตราสารอนุพันธ์กับคู่สัญญานอกสหรัฐมากกว่าคู่สัญญาในสหรัฐ หรือต้องการที่จะทำข้อตกลงทางการค้าในแบบทวิภาคี 
        นายเซินกล่าวว่า "หนึ่งในปัญหาของ SEF ก็คือว่าคุณต้องดำเนินการผ่านทางโบรกเกอร์ และโบรกเกอร์ก็มีแนวโน้มที่จะเรียกเก็บเงินจากคุณมากยิ่งขึ้นในระบบ SEF เพราะว่าโบรกเกอร์จำเป็นต้องรายงานข้อมูลเพิ่มเติม  ขณะที่โดยปกติแล้วโบรกเกอร์มักจะจ้างผู้อื่นให้ทำงานนี้แทน และมีการผลักภาระต้นทุนเพิ่มเติมนี้"
        ธนาคารสหรัฐหลายแห่งกังวลว่าตนเองอาจจะถูกกีดกันออกจากตลาดตราสารอนุพันธ์และสัญญาสว็อปของเอเชีย ดังนั้นธนาคารสหรัฐจึงหันมาใช้วิธีการต่างๆที่ถูกกฎหมายในการหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ใหม่นี้
        ดีลเลอร์ตราสารอนุพันธ์ในสิงคโปร์, ฮ่องกง และโซลกล่าวว่า ซิตี้กรุ๊ป, โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนเลย์ของสหรัฐเสนอให้ใช้สาขาในลอนดอนของธนาคารกลุ่มนี้เป็นผู้ชำระบัญชีการค้ากับคู่สัญญาในเอเชีย
        ทางด้านเจพี มอร์แกนได้เปลี่ยนเส้นทางการทำสัญญาการค้ากับคู่สัญญานอกสหรัฐ โดยให้กระทำผ่านทางสาขาในสิงคโปร์แทน
        ในช่วงปลายปีที่แล้ว รอยเตอร์รายงานว่า ธนาคารบางแห่งของสหรัฐ  เช่น มอร์แกน สแตนเลย์ และโกลด์แมน แซคส์กำลังชี้แจงต่อลูกค้าต่างชาติว่า ลูกค้าต่างชาติสามารถหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้โดยใช้วิธีทำการค้าผ่านทางกิจการนอกสหรัฐของธนาคารกลุ่มนี้
        นายเซินกล่าวว่า "ธนาคารสหรัฐบางแห่งได้ปรับโครงสร้าง และได้จัดตั้งสำนักงานในกรุงลอนดอน และขอให้เราดำเนินการผ่านทางสำนักงานในลอนดอน"
        ถึงแม้วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ช่วยให้การค้าในตลาดตราสารอนุพันธ์ขนาดใหญ่ดำเนินต่อไปได้ในช่วงนี้ แต่นักวิเคราะห์ก็กล่าวว่า ตลาดเผชิญกับความเสี่ยงที่จะมีแรงเทขายอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ควบคุมกฎระเบียบต้องการจะสกัดกั้นไม่ให้เกิดขึ้น
        นายมาร์ค ออสเตน ซีอีโอของสมาคมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์และตลาดการเงินเอเชีย (ASIFMA) กล่าวว่า "การแบ่งแยกสภาพคล่องในตลาดออกจากกันส่งผลให้ตลาดเผชิญความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น และเราก็มีความกังวลเป็นอย่างมากต่อปัญหาเหล่านี้ โดยเราหวังว่าผู้ควบคุมกฎระเบียบจะใช้วิธีการที่สอดคล้องกันทั่วโลกมากกว่านี้ในประเด็นนี้"
        คาดกันว่ายุโรปจะยังไม่ออกกฎบังคับให้การค้าตราสารอนุพันธ์ต้องกระทำในระบบอิเล็กทรอนิกส์จนกว่าจะถึงปี 2015 เป็นอย่างเร็วที่สุด ส่วนผู้ควบคุมกฎระเบียบในเอเชียยังไม่ได้กำหนดแผนการใดๆในการออกกฎเกณฑ์ประเภทนี้
        ทางด้านผู้ควบคุมกฎระเบียบกังวลว่า ตลาดตราสารอนุพันธ์จะถูกแบ่งแยกออกจากกันเป็นภูมิภาคต่างๆ และมีแนวโน้มที่การทำธุรกรรมนอก SEF จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการทำลายความโปร่งใส
        ถึงแม้การโยกย้ายเส้นทางการเทรดไปยังสำนักงานนอกสหรัฐของธนาคารสหรัฐเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลในขณะนี้ แต่เทรดเดอร์ในเกาหลีใต้ก็กล่าวว่า การตีความที่แตกต่างกันไปในเรื่องสาขาในต่างประเทศของธนาคารกลุ่มนี้ก็ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอน และสร้างความเสียหายต่อสภาพคล่องในตลาด
        ตลาดเอเชียเริ่มประสบกับสถานการณ์ที่อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาในอนาคตด้วย
        ทั้งนี้ เมื่อ CFTC เริ่มต้นใช้กฎใหม่ในวันที่ 2 ต.ค. ตลาดตราสารอนุพันธ์ในเกาหลีใต้และอินเดียก็อ่อนแอลง โดยธนาคารสหรัฐมีธุรกิจขนาดใหญ่ในตลาดสองประเทศนี้ แหล่งข่าวในธนาคารสหรัฐแห่งหนึ่งในกรุงโซลกล่าวว่า คู่สัญญาราวครึ่งหนึ่งของธนาคารแห่งนี้จัดประเภทให้ธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐเป็น "bad names" หรือ "ไม่เหมาะสมสำหรับการเทรด" และคู่สัญญาเกาหลีใต้จะยังคงหลีกเลี่ยงการเทรดกับธนาคารสหรัฐต่อไป ตราบใดที่ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องการใช้กฎเกณฑ์นี้ในระดับโลก
        นายคีธ นอยส์ จากสมาคมสัญญาสว็อปและตราสารอนุพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า "หนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในเอเชียก็คือว่า สภาพคล่องในผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ได้โยกย้ายไปยังช่วงเวลาที่ตลาดลอนดอนเปิดทำการ แทนที่จะเป็นตลาดเอเชีย เพราะผู้เทรดคาดว่า กิจการในยุโรปจะก้าวเข้ามาในตลาดเพื่อเสริมสภาพคล่อง"
        "สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือว่า ตลาดจะแยกออกจากกันเป็นสองส่วน ซึ่งก็คือตลาดสหรัฐและตลาดนอกสหรัฐ"
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
ทวีสุข ธรรมศักดิ์
Executive Vice President.
RHB-OSK Securities (Thailand)PLC
RHB Banking Group
กำลังโหลดความคิดเห็น