สนข.เปิดเวทีรับฟังความเห็นชาวกรุงเก่า พร้อมเผยโฉม 7 สถานีรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก โปรโมตกรุงเทพฯ-อยุธยาค่าโดยสารแค่ 163 บาท ใช้เวลา18 นาที พร้อมตั้งงบพิเศษดูแลผลกระทบโบราณสถาน ตั้งเป้าเปิดให้บริการปี 62
วันนี้ (25 พ.ย.) นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 669 กม. โดยระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 386 กม. ได้กำหนดรูปแบบการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนจำนวน 179 แห่ง โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับรูปแบบการเดินทางเดิมในท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งมีทั้งหมด 6 รูปแบบ ได้แก่ ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในแนวตรง ถนนลอดใต้ทางรถไฟ ถนนยกระดับรูปตัวยู ทางยกระดับทางรถไฟ อุโมงค์รถไฟ และทางลอดใต้สะพานรถไฟ และในอนาคตจะพัฒนาขยายแนวเส้นทางจากพิษณุโลกไปเชียงใหม่ ระยะทาง 283 กม.
ส่วนข้อกังวลเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น สถานีรถไฟบางปะอิน วัดพนัญเชิง วัดเกาะแก้ว วัดกล้วย ฯลฯ การศึกษาได้กำหนดให้มีการก่อสร้างด้วยการใช้เสาเข็มเจาะแทนเสาเข็มตอกเพื่อลดแรงสั่นสะเทือน และหากพบหลักฐานทางโบราณคดีใดๆ ในพื้นที่ก่อสร้างจะแจ้งสำนักศิลปากรในพื้นที่ให้ดำเนินการตรวจสอบทันที พร้อมตั้งงบประมาณพิเศษเพื่อดูแลรักษาโบราณสถานหากได้รับความเสียหาย และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างที่อาจกีดขวางทางระบายน้ำได้ออกแบบเป็นโครงสร้างทางรถไฟยกระดับตั้งแต่กรุงเทพฯ-อยุธยา (สถานีบ้านม้า)
สำหรับประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน เมื่อมีประกาศพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้ว ก่อนเริ่มต้นก่อสร้างโครงการฯ จะเป็นขั้นตอนของการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่กำหนด โดยหน่วยงานของรัฐจะกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์โดยยึดหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจัดทำสัญญาซื้อขายตามราคาซื้อขาย ณ เวลานั้น และจ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินภายในเวลา 120 วันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย และหากเจ้าของทรัพย์สินไม่พอใจในราคา สามารถยื่นอุทธรณ์ไปจนถึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้ โดยภาครัฐจะดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์อย่างถูกต้องและเป็นธรรมมากที่สุด
ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก สามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2562 แนวเส้นทางเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่พิษณุโลก ระยะทาง 386 กม. ใช้เขตทางรถไฟเดิมเป็นหลัก ช่วงกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา เป็นโครงสร้างยกระดับประมาณ 61 กม. มีอุโมงค์ 1 จุด ผ่านตัวเมืองลพบุรี จากนั้นเป็นระดับพื้น วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 300 กม./ชม. โดยมีความเร็วเฉลี่ยประมาณ 210 กม./ชม.ผ่าน รวม 8 จังหวัดมี 7 สถานี ประกอบด้วย สถานีบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก โดยได้ออกแบบอาคารสถานีให้มีความสวยงาม ทันสมัย ด้วยสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์ท้องถิ่น พร้อมมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนตามมาตรฐานสากล
โดยช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก มีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 13.2% มูลค่าการลงทุน 212,893.31 ล้านบาท และช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ มี EIRR 12.56% มูลค่าการลงทุน 214,005.25 ล้านบาท รวมมูลค่า 426,898.56 ล้านบาท โดยกำหนดค่าโดยสารเบื้องต้นเฉลี่ย 2 บาท/กม. เมื่อเดินทางจากกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา มีค่าโดยสาร 163 บาท/เที่ยว ใช้เวลาเดินทางเพียง 18 นาทีเท่านั้น
สำหรับการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 669 กม. จัดที่ห้องกรุงศรีอยุธยา 2 โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชน จากกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมการสัมมนากว่า 300 คน