ASTVผู้จัดการรายวัน - “พงษ์ศักดิ์” จี้ญี่ปุ่นชัดเจนเข้าไปลงทุนโครงการทวาย เผย 21 พ.ย.นี้รัฐบาลไทยเตรียมลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลพม่าว่าจ้างที่ปรึกษาทำดิวดิลิเจนต์ตรวจสอบเม็ดเงินที่ ITD ใช้ลงทุนเบื้องต้นในโครงการทวาย โดยให้ ITD หยุดงานทั้งหมดก่อนเพื่อให้รัฐบาลพม่าเข้ามาดูแลแทน โดยจะเปิดประมูลทำนิคมฯ ทวายเฟส 1 ช่วงเดือน ม.ค. 57 ซึ่ง ITD เข้ายื่นประมูลได้
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้ (14 พ.ย.) นายเซทซูโอะ อิอุชิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพ) ได้หารือเกี่ยวกับการลงทุนในโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า โดยเจโทรยืนยันว่าญี่ปุ่นต้องการเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ซึ่งตนได้แจ้งต่อเจโทรว่าต้องแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนกับรัฐบาลพม่า เพราะโครงการนี้รัฐบาลไทยเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทางพม่าเองก็ต้องการให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมทุนแม้ว่าขณะนี้ทางจีนและเกาหลีใต้ให้ความสนใจก็ตาม
ที่ผ่านมาญี่ปุ่นต้องการเห็นการลงทุนด้านสาธารณูปโภคก่อน คงเป็นไปไม่ได้ เพราะความพร้อมของผู้ที่จะเข้ามาลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ จึงอยากให้ญี่ปุ่นรีบตัดสินใจภายใน ม.ค.นี้ เบื้องต้นเจโทรแจ้งว่า โตโยต้าได้แสดงความชัดเจนว่าจะเข้ามาลงทุนโครงการในทวาย
จากการหารือกับรัฐบาลพม่าล่าสุด ทั้ง 2 รัฐบาลจะมีการลงนามข้อตกลงร่วมกันในวันที่ 21 พ.ย. 2556 โดยผู้ลงนามคือคณะกรรมการร่วมไทย-พม่า เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวายและพื้นที่เกี่ยวข้อง(เจซีซี) เกี่ยวกับข้อตกลงในการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการเข้ามาตรวจสอบเม็ดเงินลงทุน (ดิวดิลิเจนต์) ของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ที่ได้เข้าไปลงทุนเบื้องต้นในโครงการนิคมฯ ทวาย โดยให้บริษัทระดับสากลเป็นผู้ประเมิน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยให้ ITD หยุดทำงานก่อน แต่ยังให้ทำงานเกี่ยวกับการบำรุงรักษาทั่วไปเท่านั้น
ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าจะเปิดประมูลให้ผู้ที่สนใจเข้ามาพัฒนาโครงการนิคมฯ ทวาย เฟสที่ 1 ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2557 โดยจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมเบา เช่น อาหาร ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ เป็นต้น ซึ่งผู้ชนะประมูลจะต้องลงทุนท่าเทียบเรือขนาดเล็ก ถนน 2 เลนจากนิคมฯ ไปยังชายแดนไทย คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 120 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนโรงไฟฟ้าจะใช้เชื้อเพลิงใดเป็นเรื่องของผู้ลงทุน ทาง กฟผ.จะไม่เข้าไปลงทุนในเฟสนี้ โดยกรอบทีโออาร์การประมูลนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้จัดทำให้ ซึ่ง ITD สามารถเข้ายื่นประมูลในการพัฒนาโครงการนิคมฯ ทวายเฟส 1 ได้ ล่าสุดทาง ITD ก็เห็นชอบแนวทางดังกล่าวนี้
ส่วนการพัฒนานิคมฯ ขนาดใหญ่ในทวายนั้น ทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งหากพัฒนาแล้วการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ต้องเกิดขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ และส่วนหนึ่งจะขายไฟกลับมายังประเทศไทย