โพลคาดลอยกระทงปีนี้เงินสะพัด 1.08 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 5.6% โดยต่างจังหวัดจะคึกคักกว่ากรุงเทพฯ เผยแม้คนจะกังวลเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง และของแพง แต่ยังต้องลอยกระทงเพราะเป็นประเพณี
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภคในวันลอยกระทงปีนี้ ที่สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,245 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8-13 พ.ย. 2556 ว่า จะมีการใช้จ่ายในวันลอยกระทงปีนี้มูลค่า 10,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 10,300 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการใช้จ่ายของคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3,851.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% หรือเฉลี่ยคนละ 1,564.98 บาท และการใช้จ่ายของคนในต่างจังหวัด 7,025.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8% หรือเฉลี่ยคนละ 1,598.44 บาท
สาเหตุที่ทำให้ลอยกระทงปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่มาก เนื่องจากปี 2554 เจอภาวะน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ลอยกระทงติดลบถึง 16.5% และมาขยายตัวดีขึ้นในปี 2555 ถึง 27.2% แต่ปีนี้ ช่วงนี้เกิดเหตุชุมนุมทางการเมือง ทำให้คนวิตก และยังมีปัญหาราคาสินค้าแพง ทำให้คนไทยระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย
“ภาพรวมลอยกระทงปีนี้ยังคึกคักเหมือนเดิม เพราะเป็นประเพณีที่ทำกันอยู่ทุกปี แต่จะไม่คึกคักมากนัก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากเดิมที่คาดจะมีเงินสะพัดเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7-8% แต่เป็นเพราะเศรษฐกิจซึม มีการไว้ทุกข์ถวายสมเด็จพระสังฆราช มีการชุมนุมประท้วง และของแพง คนส่วนใหญ่ก็เลยชะลอการใช้จ่าย ส่วนที่มีเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นมาจากสินค้าราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะของที่ใช้ลอยกระทง ทั้งกระทง พลุ อาหาร ดอกไม้ ประชาชนจึงซื้อของน้อยชิ้นหรือเท่ากับปีก่อน” นายธนวรรธน์กล่าว
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ได้สำรวจสภาวะการใช้จ่ายและมุมมองต่อเหตุการณ์การเมือง พบว่า กลุ่มสำรวจกว่า 50% ยังมองว่าค่าครองชีพและราคาสินค้ายังแพง และมองว่าเศรษฐกิจยังซึมตัวต่อเนื่องถึงต้นปี 2557 ทำให้ระมัดระวังการใช้จ่าย โดยคนไทย 25% ระบุจะใช้จ่ายน้อยลง และกว่า 60% ระบุว่าจะลดการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและไปต่างประเทศในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ และประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2556 น่าจะขยายตัว 3.3% และเพิ่มเป็น 5% ในปี 2557
ส่วนการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำม็อบระบุการชุมนุมประท้วงจะจบลงไม่เกินวันที่ 30 พ.ย.นี้ หากสามารถจบลงได้จริงโดยไม่มีความรุนแรงจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก โดยอาจกระทบต่อการบริโภค การท่องเที่ยว และการลงทุนเพียง 1-2 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากการเมืองไม่สามารถจบลงด้วยดี และรัฐบาลอาจยุบสภา หรือนายกรัฐมนตรีลาออกจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่างกัน โดยหากนายกรัฐมนตรีลาออก และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ พรรคเพื่อไทยอาจเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเหมือนเดิม เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงไม่เพียงพอ จะส่งผลให้รัฐบาลยังคงเป็นพรรคเดิม และมีนโยบายทำงานเหมือนเดิม ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก หากยุบสภา โดยคะแนนนิยมของรัฐบาลตกต่ำ ก็มีโอกาสให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งจะทำให้นโยบายการบริหารประเทศเปลี่ยนแปลง ก็ต้องดูต่อว่าจะมีนโยบายอย่างไร และมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร แต่ในการเลือกตั้งจะมีเงินสะพัด 4-5 หมื่นล้านบาทที่จะหมุนเวียนในเศรษฐกิจและพยุงเศรษฐกิจปีนี้ให้ขยับได้บ้าง