นิรโทษกรรมเป็นเหตุ คนห่วงชุมนุมขยายวง เกิดเหตุรุนแรง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.หัวทิ่ม ต่ำสุดในรอบ 19 เดือน
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค. 2556 จากประชาชนจำนวน 2,241 คน ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภครวมเท่ากับ 76.6 ลดจาก 77.9 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันเท่ากับ 60.3 ลดจาก 61.3 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเท่ากับ 81.7 ลดจาก 83.2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 66.6, 69.4 และ 93.7 ลดจาก 67.9, 70.6 และ 95.1 ตามลำดับ
“ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงในรอบ 7 เดือน และดัชนีต่ำสุดในรอบ 19 เดือนนับจากเดือน เม.ย. 2555 เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยในอนาคต เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเกี่ยวกับการดำเนินการทางเศรษฐกิจและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะส่งผลให้เกิดการชุมนุม เกิดความขัดแย้งรุนแรง และการเผชิญหน้าในสังคมมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและรายได้ประชาชน” นายวชิรกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2556 เหลือ 3.7% จาก 4.2% และคาดว่าปี 2557 จะขยายตัวได้เพียง 4.8% จากเดิม 5% การส่งออกเดือน ก.ย.มีมูลค่า 19,303.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.1% และยอดรวม 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 172,139.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพียง 0.05% ขณะที่สินค้าเกษตรมีราคาตกต่ำ ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน ประชาชนกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวสูง รวมทั้งกังวลสถานการณ์น้ำท่วม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ผลจากความเชื่อมั่นลดลงทำให้ประชาชนมีความมั่นใจต่อการซื้อรถยนต์คันใหม่ ซื้อบ้านหลังใหม่ การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว และการลงทุนทำธุรกิจเอสเอ็มอีลดลงตามไปด้วย
สำหรับการสำรวจภาวการณ์ทางสังคมของผู้บริโภค ในด้านความสุขในการดำรงชีวิต ดัชนีลดลงจาก 82 เหลือ 80 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ดัชนีภาวะค่าครองชีพลดลงจาก 56.7 เหลือ 54 ต่ำสุดในรอบ 12 เดือน ดัชนีเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดลดลง 63.5 เหลือ 62.3 ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ดัชนีเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ลดลงจาก 61.5 เป็น 58.6 ต่ำสุดในรอบ 29 เดือน พร้อมทั้งเห็นว่าการเมืองในอนาคตจะแย่ลง โดยดัชนีต่อสถานการณ์การเมืองในอนาคตลดลงจาก 58.6 เหลือ 56.9 ต่ำสุดในรอบ 41 เดือน นับจากเดือน มิ.ย. 2553 ซึ่งหากสถานการณ์การเมืองยังรุนแรงและยืดเยื้อ จะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาเป็นขาลงอีกครั้ง