ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.หัวทิ่มติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 หลังปัจจัยลบรุมเร้าหนัก ชี้เดือนต่อๆ ไปยังมีโอกาสดิ่งต่อ เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่เหลือโต 4-4.5% ลุ้น กนง.ลดดอกเบี้ยอีก
นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน พ.ค. 2556 ทั้ง 3 รายการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 72.8 ลดจากเดือน เม.ย.ที่ 73.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำเท่ากับ 74.4 ลดจาก 75.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 100.4 ลดจาก 101.8
โดยปัจจัยลบที่ฉุดให้ความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ การที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2556 โตแค่ 5.3% ต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ และปรับลดเป้าทั้งปีจาก 4.5-5.5% เหลือ 4.2-5.2% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลง 35 จุด การส่งออกเดือน เม.ย.ที่ขยายตัวเพียง 2.9% และมีการขาดดุลการค้าในช่วง 4 เดือนกว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น 80 สตางค์ต่อลิตร ความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ความกังวลเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อรายได้และกำลังซื้อของเกษตรกร ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย และสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่ชัดเจน และความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า บรรยากาศทางเศรษฐกิจขณะนี้ไม่ค่อยสดใส ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.ที่ออกมาจึงปรับลดลง และเป็นการลงแรงกว่าเดือนก่อนๆ ขณะที่แนวโน้มในอนาคตคาดว่าจะปรับลงค่อนข้างเยอะเช่นกันเนื่องจากคนขาดความมั่นใจต่อเศรษฐกิจในอนาคต ขณะที่การจับจ่ายใช้สอย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถ ซื้อบ้าน หรือท่องเที่ยว ก็ปรับลดลงเช่นกัน เพราะคนมีความระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้เตรียมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ โดยคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วง 4-4.5% เนื่องจากประเมินจากปัจจัยลบที่มีเพิ่มขึ้นในขณะนี้ ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโต 5% เป็นเรื่องที่ยาก ส่วนเงินเฟ้อคาดว่าจะยังคงอยู่ที่ 2.4-2.7% การส่งออกขยายตัว 5-7%
ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจยังมีสัญญาณชะลอตัว เชื่อว่าดอกเบี้ยยังลงได้อีกเพื่อเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหากแนวโน้มเศรษฐกิจยังชะลอตัวอย่างนี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไปน่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25%