xs
xsm
sm
md
lg

“อมตะ” จี้รัฐปรับแผนรับมือน้ำตะวันออกอนาคต หากท่วมหนักฉุด ศก.ไทยล่ม!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตฯ สั่ง “กนอ.” ปรับแผนรับมือน้ำท่วม 14 นิคมฯ ภาคตะวันออกหลังปีนี้มาแบบไม่ทันตั้งตัว ระยะสั้น กนอ.เร่งทบทวนแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ระยะยาวปรับมาตรฐานก่อสร้างรับน้ำใหม่วางกรอบให้สอดรับ “กบอ.” ที่จ่อเทงบฯ รับมือหมื่นล้านบาท “อมตะ” จี้รัฐเร่งแก้ไข 3 จุด ชี้หากท่วมหนักลงทุนกว่าล้านล้านบาทระส่ำ ศก.ไทยไปแน่
 

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการรับมือสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือป้องกันจนทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยผู้ประกอบการในนิคมฯ อมตะกลับมาผลิตครบ 100% ซึ่งจากนี้ไปทุกส่วนจะร่วมกันหาแผนป้องกันระยะยาวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน โดยส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ไปเร่งดูแลป้องกันน้ำท่วมในนิคมฯ ภาคตะวันออก 14 แห่งทั้งหมด โดยขณะนี้ยืนยันว่านักลงทุนยังไม่คิดย้ายฐานการผลิตแต่อย่างใด

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า ระยะสั้นจะทบทวนแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในนิคมฯ ภาคตะวันออกที่มีอยู่ประมาณ 14 แห่ง โดยเฉพาะอุปกรณ์ฉุกเฉิน และอุปกรณ์ในภาวะปกติต้องพร้อมทำงาน และระยะยาวจะปรับปรุงมาตรฐานระบบสาธารณูปโภคเช่นเดียวกับที่ทำกับนิคมฯ ที่ถูกน้ำท่วมภาคกลางเมื่อปี 2554 ที่จะกำหนดการออกแบบระบบสูบระบายน้ำที่ต้องปรับให้เข้ากับระดับน้ำที่สูงขึ้นใหม่ในภาคตะวันออกซึ่งเกิดน้ำท่วมปีนี้

“ระดับน้ำสูงสุดในตะวันออกได้เปลี่ยนใหม่ทำให้ต้องปรับแผนทั้งหมด โดยล่าสุดคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ.เองก็จะมีการจัดทำแผนรับมือในพื้นที่ภาคตะวันออกที่จะมาเชื่อมโยงกับแผนของ กนอ.ที่จะต้องไปด้วยกัน ซึ่ง กบอ.ได้ประชุมมาแล้ว 2-3 ครั้งและมีงบดำเนินการปรับปรุงด้านต่างๆ ราว 1 หมื่นล้านบาท” นายวีรพงศ์กล่าว

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ระยะยาวแผนของภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการดังนี้ 1. การระบายน้ำที่จะต้องเพิ่มทางระบายทั้งประตู คลองธรรมชาติ ที่ต้องปรับปรุงใหม่เพราะฝนที่ตกมากในพื้นที่ภาคตะวันออกพบว่าสูงถึง 136-137 มิลลิเมตรต่อวันแต่ความสามารถรับน้ำมีเพียง 9 มิลลิเมตรต่อวัน 2. ได้หารือกับกระทรวงคมนาคมที่จะต้องปรับปรุงถนนบ้านเก่า-พานทอง ที่ควรขยายช่องจราจรและมีการวางท่อระบายน้ำระหว่างการก่อสร้างที่ต้องปรับปรุงให้ถูกต้อง และ 3. ถนนบางนา-ตราดจะต้องทำทางระบายน้ำเชื่อมลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ซึ่งนิคมฯ อมตะอยู่ห่างจากทะเลเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น

สำหรับส่วนของอมตะฯ เองมีแผนที่จะลงทุนต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการน้ำ โดยจะหารือกับผู้ประกอบการในนิคมฯ 31 ต.ค. และ 1 พ.ย.นี้ โดยเม็ดเงินลงทุนคาดว่าจะมีการประเมินอีกครั้งภายใน 2-3 สัปดาห์หลังจากนั้น ซึ่งคงจะเดินหน้าลงทุนได้เร็วเพราะเป็นเอกชน เช่น การปรับแก้มลิงให้รับน้ำได้ 130 ล้านลูกบาศก์เมตรจากรับได้ 20 กว่าล้าน ลบ.ม. การเพิ่มทางระบายน้ำ (ฟลัดเวย์) ซึ่งจะหารือกับ กนอ.ในการวางแผนต่อไป

“ผมไม่ได้เรียกร้องให้อมตะ แต่นี่คือของประเทศ ถ้าน้ำท่วมหนักในภาคตะวันออกเม็ดเงินลงทุนนับกว่า 1 ล้านล้านบาทจุดนี้จะเกิดอะไรขึ้น เศรษฐกิจไทยจะยุ่ง ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีล่มแน่นอน” นายวิบูลย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น