xs
xsm
sm
md
lg

ส.ก.จี้ “ชายหมู” เปิดประตูระบายน้ำช่องมีนบุรี ช่วยชาวกรุงฝั่งตะวันออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.ก.มีนบุรี จี้ กทม.เปิดประตูระบายน้ำคลองแสนแสบประชาร่วมใจช่องมีนบุรี จาก 1 เมตร เป็น 3 เมตร หวังช่วยระบายน้ำท่วมฝั่งกรุงเทพฯตะวันออก ด้าน “สุขุมพันธุ์” ยันไม่นิ่งนอนใจ แต่พื้นที่ฝั่งตะวันออกอาจกระทบบ้างจากน้ำในเขื่อนป่าสักฯ แต่ไม่กระทบ กทม.ชั้นในแน่
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. (แฟ้มภาพ)
วันนี้ (9 ต.ค.) ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) นายวิรัช มีนชัยนันท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตมีนบุรี ได้ยื่นญัตติด้วยวาจา ในการประชุมสภา กทม.สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 2 ประจำปี 2556 เรื่องขอให้กรุงเทพมหานครเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันออก เขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง คลองสามวา ว่า ขณะนี้บริเวณชุมชนริมคลองรอยต่อระหว่างคลองแสนแสบ กับคลองประเวศ น้ำได้เข้าท่วมชุมชนแล้วบางส่วน ระดับน้ำอยู่ประมาณ 15-20 เซนติเมตร (ซม.) ส่วนระดับน้ำในคลองมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องวันละประมาณ 5 ซม.จึงอยากให้ กทม.เปิดประตูระบายน้ำคลองแสนแสบประชาร่วมใจช่องมีนบุรีจากเดิม 1 เมตร ขึ้นเป็น 3 เมตร เพื่อช่วยระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออก เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำนอกประตูระบายน้ำมีระดับสูงถึง 1.60 เมตร และขอให้ กทม.ยกประตูระบายน้ำบางชันเพิ่มขึ้น ไล่ระดับลงมาจนถึงประตูระบายน้ำคลองสามวา ซึ่งวิธีการนี้จะไม่ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ กทม.ชั้นในแน่นอน

ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม.กล่าวว่า ขอยืนยันว่าขณะนี้สถานการณ์น้ำใน กทม.ยังไม่ใกล้เคียงกับสถานการณ์เมื่อปี 2554 ด้วยมี 3 ปัจจัยหลักคือ 1.ปีนี้ปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2554 อย่างชัดเจน แต่ขณะนี้ระดับน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณสูงจึงอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันออกบ้าง 2.การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในปีนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ กทม.ก็เชื่อมั่นว่ากรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำได้ และ 3.จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ กทม.มีประสบการณ์ในการจัดการน้ำดีขึ้น โดยการเสริมแนวคันกั้นน้ำในจุดฟันหลอต่างๆ และทำการพร่องน้ำในคลองสายหลัก เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้มั่นใจว่า กทม.จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันออกนั้น กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่การแก้ไขปัญหาขณะนี้ทำได้เพียงระยะสั้นเท่านั้นคือ การบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สำหรับแผนระยะยาว หากจะมีการสร้างแนวคันกั้นน้ำเพิ่มนั้นตนไม่เห็นด้วย เนื่องจากจะทำให้ปริมณฑลได้รับความเดือดร้อน แต่ตนเห็นว่าควรมีการสร้างอุโมงค์ยักษ์เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยในการระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยได้เร็วขึ้น ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลจะต้องช่วยดำเนินการต่อไป

“ผมอยากให้ประชาชนมีความเข้าใจตรงกันในเรื่องนี้ ซึ่งหน้าที่ของตนจะต้องทำภาพรวมและดูสถานการณ์ทั่วไปให้ดีที่สุด และบริหารจัดการความเสี่ยงในอัตราที่รับได้หรือลดระดับความเสี่ยงให้น้อยลงหรือไม่มีความเสี่ยงเลย ผมไม่อยากให้นำเรื่องการเมืองกับเรื่องน้ำมาเกี่ยวข้องกัน” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบในญัตติดังกล่าว ซึ่งเลขานุการสภา กทม.จะทำหนังสือถึงผู้บริหารเพื่อพิจารณาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น