xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.ร้อง “เจ็บป่วยฉุกเฉิน” พ่นพิษ เก็บเงินผู้ป่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ร้อง “เจ็บป่วยฉุกเฉิน” ทำพิษ เรียกเก็บเงินผู้ป่วยทั้งที่รัฐบาลบอกไม่ต้องจ่าย แนะนำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยรถยนต์มาใช้ร่วมด้วย จี้ รบ.เดินหน้า กม.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข

วันนี้ (26 ส.ค.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการฯ น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2556 เรื่อง “การรักษาพยาบาลไม่ใช่ธุรกิจ เราต้องการระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว” โดยกล่าวว่า ขณะนี้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำลังถูกคุกคาม เนื่องจากนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ์ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น” ซึ่งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนจะต้องให้บริการผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดย สปสช.จะเป็นเคลียริงเฮาส์คือ จ่ายเงินสำรองไปก่อน และค่อยเรียกเก็บกับอีกสองกองทุน โดยประชาชนไม่ต้องจ่ายแม้แต่บาทเดียว เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2555 จวบจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 1 ปี แต่กลับพบปัญหามาก ทั้งที่เป็นนโยบายที่ดี สร้างชื่อให้รัฐบาล ที่พบมากคือ ผู้ป่วยที่มาด้วยภาวะฉุกเฉินถูกเรียกเก็บเงิน โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน ประชาชนต้องจ่ายเอง และไม่รู้ว่าจะไปเบิกได้อีกหรือไม่ ทั้งที่รัฐบาลบอกว่าไม่ต้องจ่าย

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวอีกว่า สาเหตุเพราะโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ไม่ยอมรับว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉิน บ้างก็อ้างว่าเพราะเงินค่าดีอาร์จี (DRG) หรือเงินที่ สปสช.ต้องสำรองจ่ายโดยคิดค่าระดับความรุนแรงของภาวะฉุกเฉินที่ระดับละ 10,500 บาท ซึ่งเอกชนมองว่าไม่สอดคล้องกับต้นทุน เรื่องนี้ รัฐบาล โดยสปสช.ที่ถูกมอบหน้าที่ให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ จะต้องหาทางแก้ไขให้ได้ ที่สำคัญหลังจากมีนโยบายนี้ สปสช.จ่ายเงินสำรองไปแล้ว 240 ล้านบาท โดยที่ยังไม่ได้รับเงินคืนจากอีก 2 กองทุน คือ ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมากที่สุด คือ ข้าราชการ เพราะเข้ารับบริการได้มากกว่าสิทธิอื่นถึง 14 เท่า

น.ส.กชนุช แสงแถลง โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาล นำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยรถยนต์ พ.ศ. 2535 เข้าเป็นหนึ่งในนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินฯ เนื่องจากเกี่ยวพันกัน เพราะผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน ส่วนใหญ่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่กลับไม่นำ พ.ร.บ.นี้มาใช้ร่วมกัน กลายเป็นภาระของ สปสช.ในการสำรองจ่าย เนื่องจากการจะใช้สิทธิ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยรถยนต์ฯ นั้น จะมีขั้นตอนยุ่งยาก โดยเงินก้อนแรกที่ได้จาก พ.ร.บ.นี้ คือ 15,000 บาท ซึ่งจะได้รับญาติผู้ป่วยหรือผู้ประสบภัยต้องยื่นเอกสารต่างๆ หากนำมาอยู่ในนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินฯ ก็จะลดขั้นตอนยุ่งยากได้ โดย สปสช.เป็นผู้ดำเนินการเอง

ในเดือน ก.ย.กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จะขอเข้าพบรัฐมนตรรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขถึงปัญหาจากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินฯ โดยเฉพาะการเก็บเงินผู้ป่วย และจะขอแนวทางแก้ปัญหานี้ ซึ่งหากยังไม่มีความคืบหน้า พวกเราคงต้องหารือถึงแนวทางการเคลื่อนไหวที่จะไปร้องขอนายกรัฐมนตรีเอง” น.ส.กชนุช กล่าวและว่า นอกจากนี้ อยากให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินหน้าเรื่องร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... เพราะค้างในสภาฯมานานแล้ว แต่กลับไม่เดินหน้า ซึ่งพวกตนจะเข้าพบคณะกรรมาธิการสาธารณสุขเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น