xs
xsm
sm
md
lg

สนพ.ทุ่ม 13 ล้านบาทนำร่องใช้ระบบก๊าซชีวภาพบำบัดน้ำเสียอุตฯ ยางพารา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนพ.จับมือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในสหกรณ์ยางพารา ระยะที่ 1 ตั้งเป้าผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียได้ 105,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี หวังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดย สนพ.ได้สนับสนุนงบประมาณ 13.13 ล้านบาทให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนิน “โครงการส่งเสริมสาธิตการผลิตก๊าซชีวภาพในสหกรณ์กองทุนสวนยาง ระยะที่ 1” เพื่อส่งเสริมให้มีการนำระบบเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพไปใช้ในการจัดการน้ำเสีย ซึ่งจะก่อให้เกิดพลังงานทดแทน และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีกลุ่มสหกรณ์ยางแผ่นรมควันเข้าร่วมโครงการรวม 10 แห่ง ตั้งเป้าผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 105,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี จากน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการทำยางแผ่นรมควัน 5 ล้านกิโลกรัมต่อปี

“สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับเงินสนับสนุนค่าลงทุนก่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพในอัตราไม่เกิน 1.10 บาทต่อกิโลกรัมของกำลังการผลิต ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นโครงการนำร่องที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของพลังงานทดแทนให้แก่กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มสหกรณ์ยางพารา รวมถึงเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนในอนาคตได้อีกด้วย” ผอ.สนพ. กล่าว

รศ.ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ หัวหน้าโครงการส่งเสริมสาธิตการผลิตก๊าซชีวภาพ ในสหกรณ์กองทุนสวนยาง ระยะที่ 1 กล่าวว่า จากผลศึกษาและวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ผ่านมา พบว่า ผลการทดลองติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพในสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเก่าร้าง จำกัด จ.สงขลา ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถกำจัดกลิ่นเหม็น และได้ก๊าซชีวภาพมาใช้เป็นพลังงานทดแทนไม้ฟืนเพื่อรมยางแผ่น ทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 20-30 ในรอบรมควันต่อห้อง และยังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านราคาอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่เกษตรกรยางพาราไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยางพาราเป็นอุตสาหกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งมียอดการส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยร้อยละ 90 เป็นยางดิบแปรรูป ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางอื่นๆ ขณะที่ขั้นตอนการผลิตยางพาราโดยเฉพาะยางแผ่นรมควันนั้นก่อให้เกิดมลพิษอินทรีย์ทางน้ำในปริมาณมาก และจากจำนวนสหกรณ์ยางแผ่นรมควันที่มีประมาณ 400 แห่งทั่วประเทศ มีกำลังผลิตรวมประมาณ 2-3 แสนตันต่อปี ก่อให้เกิดน้ำเสียถึง 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรงผลิตยางแผ่นรมควันจะมีระบบบำบัดน้ำเสีย แต่ก็ไม่สามารถจัดการมลพิษทางน้ำและอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพพอ ซ้ำยังเกิดปัญหาการร้องเรียนจากชุมชนอยู่บ่อยครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น