ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเตรียมพร้อมรับมือปัญหาน้ำท่วม จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังระดับน้ำทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งคอยตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อน และระบบระบายน้ำให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง
นางระวีวรรณ เนตระคเวสนะ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้เกิดเหตุอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา อยุธยา ฯลฯ โดยในส่วนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ และต้องเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จึงได้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด โดยมีระบบป้องกันน้ำท่วมจากภายนอก ซึ่งมีลักษณะเป็นเขื่อนดินล้อมรอบพื้นที่ท่าอากาศยาน มีความกว้าง 3 เมตร ยาว 23.5 กิโลเมตร ฐานเขื่อนกว้าง 37 เมตร สูง 3.5 เมตร
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพความแข็งแรงของเขื่อนดินเพื่อให้มั่นใจว่าเขื่อนดินมีความแข็งแรงสามารถป้องกันน้ำจากภายนอกไม่ให้เข้ามาภายในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจเช็กระดับน้ำคลองโดยรอบพื้นที่ เช่น คลองลาดกระบัง คลองหนองงูเห่า เป็นต้น และติดตามสถานการณ์ระดับน้ำของประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำรอบพื้นที่เป็นประจำทุกวันอย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้วย
นางระวีวรรณกล่าวว่า ในส่วนของการเตรียมความพร้อมในการรองรับปริมาณน้ำฝนภายในพื้นที่ท่าอากาศยานนั้นจะมีระบบป้องกันน้ำท่วมภายใน ประกอบด้วย ระบบกักเก็บน้ำและระบบระบายน้ำ โดยมีคลองและอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำภายในพื้นที่ทั้งหมด 6 แห่ง มีศักยภาพในการกักเก็บน้ำได้สูงถึง 4 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งในปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีการรักษาระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำดังกล่าวไว้ที่ -1.5 เมตรของระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งจะทำให้ยังคงเหลือพื้นที่รองรับน้ำในกรณีที่เกิดฝนตกได้อีก 3 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อให้ไม่ต้องสูบน้ำออกไปยังพื้นที่ภายนอก
อย่างไรก็ตาม ในกรณีเกิดมรสุมมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานและมีปริมาณมาก ซึ่งทำให้พื้นที่รับน้ำของสุวรรณภูมิไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้อีก มึความจำเป็นต้องมีการสูบระบายน้ำออกบ้างเพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการ โดยระบบระบายน้ำประกอบด้วย สถานีสูบน้ำ 2 สถานี ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ ฝั่งตะวันออก และทิศใต้ ฝั่งตะวันตก ซึ่งแต่ละสถานีจะมีเครื่องสูบระบายน้ำขนาด 2 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จำนวน 4 เครื่อง รวมมีเครื่องสูบน้ำทั้งสิ้น 8 เครื่อง มีศักยภาพในการสูบระบายน้ำได้ 12 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
และในกรณีที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจำเป็นต้องมีการระบายน้ำออกนอกพื้นที่จะได้มีการประสานการทำงานร่วมกับกรมชลประทานเพื่อให้เร่งดำเนินการผลักดันน้ำและเร่งระบายน้ำออกไปทางด้านทิศใต้และให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว โดยได้ทำการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องสูบระบายน้ำ รวมทั้งระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในสภาพดี รวมทั้งได้ทำการเพิ่มกำลังระบบไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อให้เครื่องสูบระบายน้ำซึ่งมีทั้งหมด 8 เครื่องสามารถพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา
“ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังได้มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของท่าอากาศยานไว้แล้วเพื่อรองรับหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เกิดอุทกภัยภายในสนามบิน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานราชการ สายการบิน ผู้ประกอบการ สามารถป้องกันและร่วมกันแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ” นางระวีวรรณกล่าว