xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.จ่อซื้อ LNG โมซัมบิก-สหรัฐฯ เสนอขายหุ้นกู้ 2 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาณุ สุทธิรัตน์
ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท.เตรียมลงนามข้อตกลงเบื้องต้นซื้อก๊าซ LNG ระยะยาวจากแหล่งโมซัมบิกที่ ปตท.สผ.ถือหุ้นในปลายปีนี้ พร้อมทั้งเจรจาผู้ผลิต LNG ในสหรัฐฯ เพื่อขอซื้อก๊าซและร่วมทุนในโรงงานหน่วยแปรสภาพก๊าซฯ ให้เป็นของเหลวเพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานหลังทำสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวกับกาตาร์เพียงรายเดียว แย้มปีหน้ามีแผนนำเข้า LNG 3 ล้านตันรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนโครงการสถานีรับจ่ายก๊าซ LNG เฟส 2 คาดเสร็จทันปี 60 “สุรงค์” เผย ปตท.ออกหุ้นกู้สกุลบาทชุดใหม่ 2 หมื่นล้านบาท อายุ 7 ปี เสนอขายผู้ถือหุ้นกู้เดิมของ ปตท. และเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยใหม่ได้ร่วมลงทุนในหุ้นกู้ของ ปตท.

นายภาณุ สุทธิรัตน์ กรรมการ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เปิดเผยว่า ปตท.คาดลงนามในข้อตกลงเบื้องต้น (Heads of Agreement : HOA) ในการจัดซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ระยะยาว 20-25 ปีจากแหล่ง ROVUMA ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในโมซัมบิกที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) ถือหุ้นในปลายปีนี้

พร้อมทั้งเจรจากับผู้ขาย LNG หลายรายในสหรัฐอเมริกาเพื่อซื้อก๊าซ LNG ระยะยาว หลังจากสหรัฐฯ ค้นพบ Shale Gas ทำให้สหรัฐฯ มีปริมาณสำรองก๊าซฯ ที่จะพัฒนาเป็น LNG ได้จำนวนมาก รวมทั้ง ปตท.สนใจที่จะเข้าไปร่วมลงทุนในโรงงานหน่วยแปรสภาพก๊าซฯ ให้เป็นของเหลว (Liquefaction Plant) ในสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย คาดหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันและลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นได้ในปลายปี 2556 ส่วนการเจรจาซื้อก๊าซ LNG จากโครงการ FLNG ของ ปตท.สผ.ที่ออสเตรเลียนั้นยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีผู้ใช้ไม่กี่ราย และ ปตท.สผ.ก็ยังใหม่มากสำหรับเทคโนโลยีนี้

การจัดหาก๊าซ LNG ระยะยาวนั้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยมีปริมาณสำรองเหลือไม่มาก และการจัดหาก๊าซฯ เพิ่มขึ้นจากพม่าก็ทำได้ยาก หลังจากพม่าเปิดประเทศทำให้มีความต้องการใช้ก๊าซฯ มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ ปตท.มีการทำสัญญาซื้อก๊าซ LNG ระยะยาวจำนวน 2 ล้านตันจากกาตาร์ก๊าซเพียงรายเดียว โดยจะเริ่มรับก๊าซฯ จากกาตาร์ในต้นปี 2558

อย่างไรก็ตาม การนำเข้า LNG จากสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงหลายด้าน อาทิ รัฐบาลสหรัฐฯ มีสิทธิแก้ไขหรือเพิกถอนใบอนุญาตส่งออก LNG ได้หากเกิดความเสี่ยงต่อผู้ลงทุนและผู้ซื้อ LNG จากโครงการดังกล่าว รวมทั้งราคาขาย Henry Hub มีความผันผวนและอาจมีระดับสูงได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันโครงการผลิต LNG ในสหรัฐฯ มีเพียง 4 โครงการที่ได้รับใบอนุญาตส่งออกไปยังประเทศ Non-US FTA และใบอนุญาตก่อสร้าง FERC แล้ว โดย ปตท.ได้เจรจากับผู้ผลิตที่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว ซึ่งราคาก๊าซ LNG ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ นั้นเมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการแปรสภาพจากก๊าซฯ เป็นของเหลวและค่าขนส่งมายังไทยน่าจะอยู่ในระดับ 10.50 เหรียญสหรัฐ/ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน (ราคา Henry Hub 4-5 เหรียญสหรัฐ/ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน) ซึ่งต่ำกว่าราคา LNG ในตลาดญี่ปุ่นที่ปัจจุบันอยู่ที่ 15 เหรียญสหรัฐ/ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน

นายภาณุกล่าวต่อไปว่า แผนการจัดหา LNG ในปี 2557 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านตันจากปีนี้ที่มีแผนการนำเข้า LNG อยู่ที่ 1.5-2 ล้านตัน และปีถัดไปจะนำเข้า LNG ได้ 5 ล้านตันเต็มกำลังการรองรับของสถานีรับ-จ่ายก๊าซ LNG (LNG Receiving Terminal) เฟสที่ 1 จำนวน 5 ล้านตัน ทำให้บริษัทฯ มีแผนขยาย LNG Receiving Terminal เฟส 2 อีกเท่าตัว รวมเป็น 10 ล้านตัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560

ปัจจุบันโครงการ LNG Receiving Terminal เฟส 2 อยู่ระหว่างการจัดหาบริษัทผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้าง คาดว่าจะมีความชัดเจนในต้นปีหน้า และจะก่อสร้างแล้วเสร็จผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2560 โดยจะมีถังเก็บเพิ่มอีก 2 ถัง และท่าเทียบเรือเพิ่มอีก 1 ท่า ใช้เงินลงทุน 2.1 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเฟสแรกที่ใช้เงินลงทุน 2.8 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ปตท.ยังศึกษาการขยาย LNG Receiving Terminal เฟส 3 โดยอยู่ระหว่างการจัดหาสถานที่ตั้งอยู่ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 3-4%

นายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ ของไทยจะเฉลี่ยอยู่ที่ 4,600 ล้าน ลบ.ฟ./วัน ซึ่งแบ่งเป็นการจัดหาภายในประเทศ 3,600 ล้าน ลบ.ฟ./วัน ที่เหลือนำเข้าจากพม่าและนำเข้าในก๊าซ LNG จากต่างประเทศ โดยปีนี้ไทยมีการนำเข้าLNG ประมาณ 1 ล้านตัน

ส่วนโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 5 ที่หยุดผลิตเนื่องจากฟ้าผ่า ขณะนี้ได้กลับมาผลิตอยู่ 50% ของกำลังการผลิตรวมต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2557 เนื่องจากต้องรออุปกรณ์ที่สั่งซื้อเข้ามาเปลี่ยนใช้เวลานาน 1 ปีจึงจะเดินเครื่องจักรได้เต็มที่อีกครั้ง

ปตท.ออกหุ้นกู้ 2 หมื่นล้านบาท

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินบาทชุดใหม่มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท ประเภทไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกัน อายุหุ้นกู้ 6 ปี 11 เดือน 19 วัน ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 15 พ.ย. 2563

โดยกำหนดออกหุ้นกู้ชุดใหม่วันที่ 27 พ.ย. 2556 สำหรับการเปิดจองหุ้นกู้จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงที่ 1 วันที่ 18-19 พ.ย. 2556 สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ชุดที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือน ต.ค.และ พ.ย. 2556 ช่วงที่ 2 วันที่ 21 พ.ย. 2556 สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ปัจจุบันของ ปตท.ทุกชุด ช่วงที่ 3 วันที่ 22 พ.ย. 2556 สำหรับผู้ลงทุนประชาชนทั่วไปที่เป็นบุคคลธรรมดา โดยเปิดจองในงาน PTT Debenture Day ที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1 ลานอีเดน และช่วงที่ 4 วันที่ 25-26 พ.ย. 2556 สำหรับผู้ลงทุนที่เป็นประชาชนทั่วไป

โดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ดังกล่าวที่ระดับ ‘AAA(tha)’ ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจและการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทอีกด้วย หุ้นกู้ของ ปตท.จึงเป็นทางเลือกในการลงทุนในระยะยาวที่มั่นคง ให้ผลตอบแทนเหมาะสมตามสภาวะตลาดในปัจจุบัน

ผู้สนใจจองซื้อหุ้นกู้ ปตท.ชุดใหม่นี้สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากร่างหนังสือชี้ชวนที่ www.sec.or.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหุ้นกู้ได้ที่สาขาของธนาคารที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ หรือที่ Call Center ของ ธ.กรุงเทพ โทร. 1333 (ยกเว้นสาขาไมโคร) ธ.กรุงไทย โทร. 1551 ธ.กสิกรไทย โทร. 0-2888-8888 กด 02 ธ.ไทยพาณิชย์ โทร. 0-2777-7777 และ ธ.ธนชาต โทร. 1770
กำลังโหลดความคิดเห็น