xs
xsm
sm
md
lg

อัดรัฐกระตุ้น ศก.เหลว ลุยกู้หนัก 5-6 แสนล้าน แต่การเติบโต “จีดีพี ”น่าผิดหวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธาน ธ.กรุงเทพ เตือน 3 ปัจจัยเสี่ยง ศก.ไทย หนี้ครัวเรือนพุ่ง คนวัยทำงานสัดส่วนลดลง ขาดดุลบักโกรก เผยที่ผ่านมา รัฐบาลใช้มาตรการทางการเงิน และการคลังสูงมาก เห็นได้จากในช่วง 12-13 เดือนที่ผ่านมา มีการกู้เงินเพิ่มขึ้น 5-6 แสนล้านบาท ถือเป็นจำนวนเงินมหาศาล น่าจะทำให้ “จีดีพี” เติบโตสูงตามไปด้วย แต่กลับพบว่าอัตราขยายตัว ศก.ไทยเติบโตแบบน่าผิดหวัง

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวสัมมนาเรื่อง “มุมมองอนาคต ความเสี่ยง โอกาสเศรษฐกิจไทย” จัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ ที่ในช่วง 5 เดือนแรก ไทยขาดดุลมากกว่า 3,145 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือนอยู่ที่ 81.9% และโครงสร้างประชากรของไทยที่จะมีคนสูงอายุเกิน 65 ปี ในสัดส่วน 30% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ทั้งนี้ หากไทยยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง อัตราหนี้ภาคครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือนสูงขึ้น และประเทศไทยยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างประชากร จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยแย่ แต่ระบุไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

“แม้ว่าประเทศไทยจะเกิดจุดเสี่ยงขึ้นมาในประเทศ 3 ด้าน ทั้งหนี้ภาคครัวเรือนสูงมาก และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 5 เดือนติดลบ และยังไม่มีการวางโครงสร้างประชากรของประเทศ แต่ผมมั่นใจว่า ในขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังจับตาหนี้ภาคครัวเรือนอย่างใกล้ชิด และรัฐบาลก็ฟังข้อมูล มีมาตรการรับมือ ประเทศไทยคงไม่กลับไปเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนปี 2540”

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรมีมาตรการเสริมออกมาดูแลเศรษฐกิจไทย นอกเหนือจากมาตรการทางการเงินและการคลัง ที่ครึ่งปีหลังเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจไทยแผ่วลง โดยที่ผ่านมา รัฐบาลใช้มาตรการทางการเงินและการคลังสูงมาก เห็นได้จากในช่วง 12-13 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลกู้เงินเพิ่มขึ้น 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูง และน่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เติบโตสูงตามไปด้วย แต่พบว่าอัตราขยายตัวเศรษฐกิจไทยเติบโตไม่สูงมากนัก

“เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะเติบโตแบบแผ่วลงในทุกส่วน ยกเว้นภาคการท่องเที่ยวที่ดีอยู่ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ทำให้เศรษฐกิจโตสูงขึ้น เศรษฐกิจเกิดสัญญาณแผ่ว ไม่รู้ว่าทำไมทั้งที่รัฐบาลใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก โดยคาดว่าปีนี้จีดีพีจะเติบโต 4%”

นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างประชากรของไทยก็มีความสำคัญสูงมาก เพราะเป็นการวางแผนโครงสร้างประชากรของประเทศระยะยาว โดยในอีก 30 ปี หรือในปี 2583 ประชากรอายุ 65 ปี จะมีสัดส่วน 30% ของประชากรทั้งประเทศ จากปัจจุบันอยู่ที่ 10% จึงต้องวางแผนทั้งด้านอุตสาหกรรม และการเกษตรที่จะพึ่งพาการใช้แรงงานสูงไม่ได้

“ตรงนี้จะเห็นว่าการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาประชากรของไทย เพื่อเพิ่มการศึกษาให้มีคุณภาพทั่วถึง และมีเรื่องคุณธรรม มีความสำคัญมากกว่าการลงทุนสร้างระบบสาธารณูปโภค เช่น รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ ธปท. พบว่า อัตราหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือนของคนไทย ปี 2555 อยู่ในระดับ 81.9% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยบางส่วนมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น นโยบายรถยนต์คันแรก เป็นต้น ที่ทำให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศจำนวนมาก ขณะที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็เป็นตัวเลขที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญมากเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น