xs
xsm
sm
md
lg

“คลื่น 1800 และ 3G คุณภาพสัญญาณ... สถานการณ์ที่ผู้บริโภคเป็นตัวประกัน!!?”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในยุคแห่งการแข่งขันด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่เหมือนผู้บริโภคจะได้ประโยชน์เต็มที่ แต่แท้ที่จริงแล้วกลับตกอยู่ในสถานะตัวประกัน ทั้งเรื่อง 3G ที่ไม่เร็วจริง และอายุสัมปทานคลื่นโทรศัพท์มือถือระบบ 1800 ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.2556 นี้ แต่ผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ไม่เคยแจ้งให้ลูกค้าทราบอย่างเป็นรูปธรรม

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐที่มีบทบาทในการบริหารความถี่วิทยุ เพื่อกิจการโทรคมนาคม และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม จัดเวทีเสวนาพบปะเครือข่ายประชาสังคมภาคใต้ ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในหัวข้อ “กสทช.บนความคาดหวังเทคโนโลยีเพื่อสังคม... ผู้บริโภคพึ่งได้หรือไม่?” เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โดยมี นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ร่วมเสวนา “ASTVผู้จัดการภาคใต้” จึงถือโอกาสนี้สัมภาษณ์พิเศษ เจาะข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภารกิจของ กสทช. ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่อง 3G, ทีวีดิจิตอล และอายุสัมปทานสัญญาณโทรศัพท์มือถือรายใหญ่เจ้าหนึ่งที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.2556 นี้ แต่ผู้ให้บริการไม่เคยแจ้งให้ลูกค้าทราบอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทัน และเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
 
หลังจาก นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม จบการเสวนาในหัวข้อ “โทรคมนาคม คุณภาพสัญญาณมาตรฐาน สถานการณ์ที่ผู้บริโภคเป็นตัวประกัน...?” เราจึงขอให้ช่วยขยายความต่อแบบเน้นๆ เพื่อความเข้าใจที่ตรงไปตรงมา
 
 
สถานการณ์ตอนนี้ “ผู้บริโภคตกเป็นตัวประกัน” อย่างไรบ้าง?
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา : ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะรู้แค่วิธีการใช้งาน แต่ไม่รู้ต้นทุนที่จะต้องเสียไป เช่น ต้นทุนค่าบริการ ต้นทุนทางสังคม หรือต้นทุนทางสุขภาพ ดังนั้น สิ่งที่ กสทช. เราพยายามทำคือ ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค ว่ามีได้ก็ต้องมีเสีย แล้วถ้าท่านยอมที่จะเสีย ก็ถือว่าเป็นความสมัครใจ แต่ถ้าไม่รู้เท่าทัน แล้วเสียผลประโยชน์ รู้สึกว่าไม่คุ้มค่า อันนี้ก็ต้องระวังกันด้วย

โดยรวมเราพยามที่จะบอกว่า ตอนนี้มีการพยายามอ้างผู้บริโภคเยอะขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เรารู้อยู่แล้วว่ามีการให้บริการ 3G เราก็บอกว่าถ้ามี 3G ใหม่ปุ๊บ จะต้องเป็น 3G แท้ ไม่ใช่ 3G เทียม ซึ่งผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการรับส่งข้อมูลรวดเร็วมาก และมีค่าบริการที่ถูกลง กสทช.ก็มีการให้อนุญาตบริษัทเอกชนไปดำเนินการ โดยที่มีคนสงสัยว่าเป็นการประมูลหรือไม่ แล้วสุดท้ายเมื่อเปิดบริการไป ก็พบว่าหลายบริษัทไม่ได้ลดราคาตามกฎหมายที่เรากำหนด คือให้ลดค่าบริการลง 15 เปอร์เซ็นต์

“ตรงนี้ดูง่ายๆ คือ เรามีเงื่อนไขว่าถ้าใครใช้ 3G โปรโมชันเก่าเหมือนเดิม ราคาค่าบริการก็จะลดลงทันที 15 เปอร์เซ็นต์ ปรากฏว่า มีผู้บริโภครายที่โอนไปเป็น 3G ใหม่แล้วใช้โปรโมชันเดิม แต่ค่าบริการไม่ลดราคาเลยสักบาทเดียว อันนี้ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ผู้ให้บริการก็ยกผู้บริโภคมาอ้าง ว่าที่ต้องเปิดให้บริการ 3G เพื่อความสะดวกของผู้บริโภค แต่กลับเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่ลดราคาค่าบริการตามที่กฏหมายกำหนด” นพ.ประวิทย์ อธิบาย

เรื่องที่ 2 คือ ผู้ให้บริการบอกว่าบอกว่า 3G แท้จะเร็วปรื๋อ 20 Mbps บ้าง 40 Mbps บ้าง เอาเข้าจริงสถิติเฉลี่ย 3G ใหม่ 2001 นี่เร็วกว่า 3G เดิมแค่เส้นยาแดงผ่าแปด คือมันแทบจะไม่ต่างกันเลย

“ถ้าถามว่าทำไม 3G ใหม่จึงเร็วกว่า นั่นเพราะมันเป็นเทคโนโลยีใหม่กว่า และจำนวนผู้ใช้งานก็น้อยกว่า คาดการณ์ได้ว่าถ้าผู้ใช้งานย้ายไปใช้ 3Gใหม่ทั้งหมด 3G ใหม่ก็จะช้าลงมาอีกระดับหนึ่ง ตรงนี้ก็เป็นการอ้างผู้บริโภคอีก”

หรือกรณีหนึ่งที่ชัดเจน คือ ปลายปีนี้จะสิ้นสุดอายุสัมปทานของสัญญาณระบบ 1800 ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหนึ่ง ซึ่งกฎหมายระบุไว้ว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ต้องประมูลเท่านั้น จะต่ออายุสัญญาเองไม่ได้ และการประมูลก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งปี ถึง 1 ปี ผู้ให้บริการจะต้องบอกผู้บริโภคว่ากำลังจะหมดสัญญา แต่ส่วนใหญ่ผู้บริโภคที่ใช้เครือข่ายนั้นก็ยังไม่รู้ ทางแก้คือ ต้องประมูลก่อนจะหมดอายุสัมปทาน และต้องแจ้งผู้บริโภคให้ทราบเพื่อที่จะได้เตรียมการรับมือ แต่ของค่ายดังกล่าวซึ่งจะหมดอายุสัมปทานในเดือน ก.ย.2556 นี้ ถือว่าทางค่ายยังเตรียมการรับมือไม่ทัน ทั้งๆ ที่มีการเซ็นสัญญา และรู้ล่วงหน้ามาเป็น 10 ปี
(ขอบคุณภาพประกอบจาก www.needformen.com)
 
“เมื่อสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดผู้บริโภคจะเดือดร้อน ทั้งที่ข้อเท็จจริงนั้นสามารถที่จะบริการต่อเนื่องได้ โดยให้บริษัทหาผู้บริการรายใหม่มาดูแลผู้บริโภคแทน แต่ตอนนี้มีการอ้างว่าผู้บริโภคจะเดือดร้อน จึงจำเป็นต้องให้รายเก่าให้บริการต่อ” นพ.ประวิทย์ กล่าว และยกตัวอย่างประกอบให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า
 

เสมือนโรงเรียนเอกชนที่มีนักเรียนอยู่แล้ว จากนั้นโรงเรียนถูกถอนใบอนุญาต วิธีแก้ปัญหาคือ ต้องหาโรงเรียนใหม่ให้เด็กนักเรียนไปเรียนต่อ แต่ตอนนี้เขากลับบอกว่าต้องเปิดสอนต่อ ทั้งที่ผิดกฎหมาย โดยอ้างว่าเด็ก หรือนักเรียนไม่มีที่เรียน ซึ่งข้อเท็จจริงมันแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีอื่น ก็คือหาที่เรียนใหม่ที่เหมาะสมแก่นักเรียน ไม่ใช่อ้างผู้บริโภคเป็นตัวประกัน แล้วก็ไปให้บริการต่อเนื่อง ตรงนี้จะเห็นได้ว่าว่า ปัจจุบันการให้บริการอะไรก็ตามแต่ มักจะบอกว่าเพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภค แต่ข้อเท็จจริงแล้วผู้บริโภคอาจจะได้ประโยชน์น้อย หรือแทบจะไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพที่ดีขึ้น หรือค่าบริการที่ต่ำลง


 
เราสามารถควบคุมผู้ให้บริการได้อย่างไรบ้าง?
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา : หลักๆ แล้วมี 2 อย่างคือ ใช้ระบบกฎหมายที่ออกโดย กสทช. และใช้ระบบใบอนุญาต คือ กำหนดเป็นเงื่อนไขใบอนุญาต

“ถ้าจำได้เมื่อ 2 ปีก่อน มีเครือข่ายหนึ่งล่มซ้ำๆ ซาก ๆ กสทช. ก็ออกเป็นกติกาในเงื่อนไขอนุญาตว่า ก่อนที่คุณจะปรับปรุง หรือซ่อมบำรุงเครือข่าย ต้องแจ้งผู้บริโภคให้ทราบ แล้วถ้าบังเอิญเกิดล่ม ล่มนานเกิน 30 นาที ก็ต้องประกาศต่อสาธารณะผ่านสื่อมวลชน ไม่ใช่ให้ผู้บริโภคสงสัยว่าที่เครือข่ายล่มนี้เป็นเพราะโทรศัพท์เราเสีย หรือว่าระบบมันล่ม”

ระบบกำกับดูแลจึงต้องผ่านระบบกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นประกาศ หรือใบอนุญาต แล้วที่สำคัญจริงๆ คือ ประกาศ หรือใบอนุญาตก็เป็นแค่กระดาษ มีหลายกรณีที่ออกประกาศไปแล้วบริษัทไม่ทำตาม ใช้สิทธิทางการปกครองไปฟ้องไปยื้อคดี เช่น ปัจจุบันนี้เราบอกว่าโทรศัพท์ระบบเติมเงินห้ามหมดอายุ บริษัททำให้หมดอายุมาหลายปี ทาง กสทช. ก็ปรับเงินจากหลายบริษัท บริษัทละ 10 ล้านบาท 20 ล้านบาทบ้าง บางบริษัทก็ไปฟ้องศาล จนกระทั่งตอนนี้ คำสั่งปรับออกเมื่อ 13 เดือนที่แล้ว กสทช. ก็ยังไม่ได้เงินสักบาท บริษัทฟ้องศาลแล้ว ศาลตัดสินว่ายังไงก็ต้องเสียค่าปรับ ถ้า กสทช. ผิด ก็ต้องจ่ายเงินเขาทีหลัง แต่วันนี้ต้องเสียค่าปรับไปก่อน แม้จะมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน แต่ยังไม่มีการจ่ายค่าปรับ

“ผมพยายามจะบอกว่า กฎหมายก็เป็นกระดาษ สิ่งสำคัญจริงๆ คือ การบังคับใช้เกิดขึ้นได้ต้องมีพลังของผู้บริโภคสนับสนุน ถ้าผู้บริโภคเห็นว่าถูกเอาเปรียบ ก็ไปเรียกร้องต่อ กสทช. ให้เด็ดขาด ตอนนี้เสมือนหนึ่ง กสทช. เองอาจจะไม่มีผู้บริโภคหนุนหลัง การลงดาบผู้ประกอบการก็เกรงใจบ้าง หรือล้าหลังบ้าง อย่างที่บอกในกรณีค่าปรับว่าผ่านไป 13 เดือนแล้ว ก็ยังไม่ได้เงินสักบาทเดียว”
 

ในฐานะผู้บริโภคเราควรปรับตัวอย่างไรบ้างเพื่อความรู้เท่าทัน?
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา : ผู้บริโภคต้องรู้จักบริการที่เราจะใช้ เช่น ถ้าเราใช้โทรศัพท์อยู่แล้วแค่โทร.ออกรับสาย นั่นแปลว่าใช้ 2G ก็พอ หรือถ้าอยากจะใช้ 3G ต้องศึกษาว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร เหมือนกับที่เราดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมา หรือไปสมัครใช้บริการบางอย่าง มันจะมีคำเตือน เราก็ต้องอ่านคำเตือนว่ารายละเอียดมีอะไรบ้าง เพราะบางครั้งเขาบอกว่าเขาเตือนแล้ว แต่เราไม่อ่านเอง พอเกิดผลกระทบเราก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง ดังนั้น แนะนำว่าเราต้องศึกษาตัวบริการ

เรื่องที่ 2 คือ ศึกษาตัวเครื่อง หรืออุปกรณ์ที่เราซื้อมา เพราะบางทีมันฉลาดเกินไป มันไปเชื่อมต่ออัตโนมัติ มีการรับส่งข้อมูลอัตโนมัติ ทำให้เราเสียเงินโดยไม่รู้ตัว

เรื่องที่ 3 คือ ศึกษาโปรโมชัน เช่น ที่เกิดปัญหาค่าบริการแพงๆ คือ โรมมิ่งต่างประเทศ เราต้องศึกษาโปรโมชันว่าทำอย่างไรเราถึงจะจ่ายถูกที่สุด ไม่น่าเชื่อว่ามีผู้บริโภคคนหนึ่งเดินทางไปสิงคโปร์ 3 วัน โดนค่าโรมมิ่งไป 250,000 บาท ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือ ถ้าเขาสมัครถูกโปรโมชันจะจ่ายแค่ 1,000 เดียว และจาก 1,000 เดียวมันกลายเป็น 250,000 บาท บริษัทก็จะอ้างว่าผู้บริโภคไม่ศึกษาโปรโมชันเอง ดังนั้น หน้าที่ผู้บริโภคคือ ศึกษาเทคโนโลยี บริการ ศึกษาตัวเครื่องโทรศัพท์ และศึกษาโปรโมชัน

“สุดท้ายจริงๆ ที่ต้องทำคือ ผู้บริโภคต้องรวมตัวกัน การรวมตัวกันจะทำให้เกิดพลังอำนาจต่อรองกับบริษัท เช่น เราร้องเรียนรายเดียว บริษัทก็ไม่สนใจ แต่ถ้าร้องเรียนร่วมกันบริษัทก็จะรู้ว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขจริงจัง” นพ.ประวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย

 
 

กสทช.ผ่านร่างเยียวยา 1800 MHz ไม่สนใจเสียงท้วงติง
กสทช.ผ่านร่างเยียวยา 1800 MHz ไม่สนใจเสียงท้วงติง
ตามคาด อาศัยระบอบเผด็จการเสียงข้างมากลากไปให้เอกชน กสทช.ผ่านร่างประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ร่างเยียวยา 1800 MHz) ตามสไตล์ 7 ต่อ 2 เผย 2 เสียงที่ค้านอยู่ด้านคุ้มครองผู้บริโภค “นพ.ประวิทย์” ติงควรมีการตีความด้านกฎหมายอย่างเคร่งครัดก่อนว่า กสทช.มีอำนาจขยายเวลาสัญญาสัมปทานหรือไม่ ส่วน “สุภิญญา” โวยถ้ามีเหตุผลในการคุ้มครองผู้ใช้บริการจริง ยังไม่เห็นร่างประกาศพูดถึงเรื่องการชดเชยให้ผู้บริโภค อาทิ การลดราคาค่าบริการเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น