มิตร เจริญวัลย์ อดีตประธานสหภาพฯองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ที่ทำหน้าที่สหภาพฯในช่วงตั้งแต่ยุคผูกขาดบริการโทรศัพท์ของรัฐ จนมาถึงช่วงสัญญาร่วมการงานที่ลือลั่นคือสัญญาโทรศัพท์พื้นฐาน 3 ล้านเลขหมาย จนเข้าสู่ยุคแปรสภาพทศท.เป็นบริษัทมหาชนในชื่อบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น และสู่ยุคที่เกษียณในชื่อบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
พี่มิตรของน้องๆนักข่าวในวงการโทรคมนาคม เคยเล่าให้ฟังว่า เคยถามผู้บริหารบริษัทสัญญาร่วมการงานหรือบริษัทสัมปทานใหญ่โตว่า หากพรุ่งนี้สัญญาสัมปทานหมดอายุไปแล้วพวกคุณจะเป็นอย่างไร คำตอบก็คือ ทุกคนเก็บกระเป๋ากลับบ้าน เพราะทรัพย์สินในแง่โครงข่ายโทรคมนาคม อุปกรณ์โทรคมนาคม รวมทั้งลูกค้าทุกอย่างต้องตกเป็นของรัฐหรือของทีโอที ที่สามารถนำไปบริหารจัดการเพื่อสร้างรายได้ให้เกิดประโยชน์กับรัฐ
นั่นนานมาแล้วหลายปี อาจจะเป็นช่วงมีกทช.ใหม่ๆ ซึ่งสมัยนั้นกทช.จะไม่เข้ามายุ่งย่ามกับสัญญาสัมปทานเด็ดขาด เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นฉบับไหน ต่างคุ้มครองสัญญาสัมปทานให้เป็นเรื่องเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ซึ่งหากจะเลิก เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ชัดเจนว่า ไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ที่ควรจะได้จนถึงวันหมดสัญญา เพราะหากใครทำสุ่มสี่สุ่มห้า อาจเจอม.157 ซึ่งทำให้การแปรสัญญาร่วมการงานไม่สามารถทำได้ถึงแม้จะมีความพยายามศึกษามาทุกยุคทุกสมัย
ตัดภาพกลับมาปัจจุบันยุคกสทช.ชุดที่มี 4 กทค.(คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ในฝันของเอกชนนำโดยพ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณเป็นประธานภายใต้ข้อเสนอแนะด้านกฎหมายจากกสทช.สุทธิพล ทวีชัยการ
ทรูมูฟ กับ ดีพีซี จะหมดสัญญาร่วมการงานให้บริการโทรศัพท์มือถือในย่านความถี่ 1800 MHzกับบริษัท กสท โทรคมนาคม ในวันที่ 15 ก.ย. 2556 ที่จะถึงนี้ คำถามคือ ในวันที่สิ้นสุดสัญญา หากยังมีลูกค้าค้างในระบบจะทำอย่างไร ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซิมดับ ไม่สามารถใช้บริการได้ เพราะจากตัวเลขปัจจุบันทรูมูฟ มีลูกค้าใช้งานในระบบขณะนี้ประมาณ 18 ล้านเลขหมาย จะอัดโปรโมชันจูงใจเพื่อให้ลูกค้าใช้บริการย้ายค่ายเบอร์เดิม หรือ นัมเบอร์พอร์ต เพื่อมาเป็นลูกค้าทรูมูฟเอช หรือ เรียลฟิวเจอร์มากแค่ไหน แต่ก็คงย้ายไม่หมด 18 ล้านเลขหมายในเวลาอีกไม่ถึง 3 เดือน ส่วนดีพีซีซึ่งมีลูกค้าแค่ 8 หมื่นเลขหมายไม่ใช่ปัญหามากมายนัก
ถึงแม้ปัญหานี้จะรับรู้มาเนิ่นนาน แต่ดูเหมือนเพิ่งมีความกระตือลือล้นที่จะแก้ปัญหาไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยแนวคิดของกสทช.คือการออกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ….
สรุปได้ว่าจะมีผู้ให้บริการ (ผู้ให้บริการ หมายความว่า ผู้ให้สัมปทาน และ/หรือ ผู้รับสัมปทานเดิมตามสัญญาการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาที่สิ้นสุดลงตามที่คณะกรรมการมีมติกำหนด) เป็นผู้ดูแลลูกค้าต่อไปด้วยคุณภาพและมาตรฐานที่ไม่ลดลงในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยห้ามหาลูกค้าใหม่ และมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ค่า USO ให้กสทช. และหลัง 1 ปีผ่านไป หากยังมีลูกค้าค้างในระบบ ผู้ที่ประมูลความถี่ 1800 MHz ดังกล่าวได้ จะต้องรับผิดชอบลูกค้ากลุ่มนี้
คำถามที่ตามมาคือเมื่อสิ้นสุดสัมปทาน ทำไมกสท ถึงไม่มีอำนาจโดยอิสระที่จะตัดสินใจเลือกว่าจะเป็นผู้ให้บริการเอง หรือ จะสามารถวางเงื่อนไขกฎเกณฑ์เพื่อคัดเลือกบริษัทเอกชนรายใดก็ได้ที่เสนอผลประโยชน์ให้กสทสูงสุด ภายใต้คุณภาพการดูแลลูกค้าที่มีการตั้งค่ามาตรฐานกำหนดไว้เป็นเกณฑ์ตัดสิน ที่ชอบธรรมและโปร่งใส
เพราะลูกค้าที่เหลืออยู่ เป็นลูกค้าในระบบ 1800 MHz ที่กสทเป็นเจ้าของทรัพย์สินและโครงข่ายทั้งหมด ไม่ใช่ลูกค้าของทรูมูฟหรือดีพีซีอีกต่อไปแล้ว
ทำไมกสทช. ถึงลุแก่อำนาจ ตัดสินเองว่าผู้ให้บริการต้องเป็นผู้ให้สัมปทานคือกสท หรือ ผู้รับสัมปทานคือทรูมูฟและดีพีซีเท่านั้น
ประเด็นที่น่าคิดตามมาติดๆคือ เรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ส่วนแบ่งรายได้ระหว่างกัน ถึงแม้ระยะเวลา 1 ปี กสทช.จะเลี่ยงบาลีว่าไม่ใช่การต่อสัญญา แต่มันก็คือการต่อสัญญาดีๆนี่เอง เพราะเชื่อได้ว่าก่อนหน้านี้เอกชนไม่ได้มีการตั้งประมาณการณ์หรือคาดการณ์รายได้ใดๆ หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน โมเดลด้านการเงินต่างๆ ต้องถูกออกแบบมาภายใต้ระยะเวลาสัมปทานเท่านั้น
พูดได้ว่ากสทช.แจกโบนัสเอกชน 1 ปี แต่จะเป็นรายได้เท่าไหร่ มันน่าคิดอย่างมาก
สมมติเหลือลูกค้าเต็มที่สัก 10 ล้านรายในเดือนที่ 1 คิดรายได้ต่อเลขหมายสัก 150 บาท เพราะคงเหลือลูกค้าที่ใช้วอยซ์และน่าจะเป็นลูกค้าระบบพรีเพด มีการใช้งานไม่มากนัก ผู้ให้บริการก็จะมีรายได้ทันที 1,500 ล้านบาท คูณ 12 เดือนก็เท่ากับ 1.8 หมื่นล้านบาท ต่อให้หาร 2 แล้วกันเพราะเมื่อถึงเดือนที่ 12 ลูกค้าคงลดน้อยลงไป ก็จะเหลือประมาณ 9 พันล้านบาท ตัวเลขนี้คิดง่ายๆ หยาบๆ แต่คาดว่าในความเป็นจริงอย่างน้อย 1 ปีที่ดูแลลูกค้าต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทแน่นอน
หากคิดส่วนแบ่งรายได้ตามสัมปทานเดิม กสทได้ 30% เอกชนได้ 70% แต่สำหรับระยะเวลาโบนัส 1 ปี สมควรต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่มีทางที่รัฐจะได้น้อยลงกว่า 30% เพราะหากรัฐได้เท่าเดิม เท่ากับรัฐเสียประโยชน์ เจ้าหน้าที่รัฐที่ดำเนินการเช่นนี้ ต้องโดนป.ป.ช. โดน 157 ตรรกะที่ควรจะเป็นคือกสท ต้องกำหนดเงื่อนไข สร้างทีโออาร์เพื่อคัดเลือกบริษัทที่พร้อมเสนอตัวมาดูแลลูกค้า ทั้งเรื่องบิลลิ่ง คอลเซ็นเตอร์ รวมทั้งเรื่องการบำรุงรักษาโครงข่าย ในขณะที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนจำนวนมากสร้างโครงข่ายเพื่อให้บริการอีกต่อไป คำถามที่ต้องตอบคือ ทุกๆ 100 บาทของรายได้จากการให้บริการ กสท ควรได้รับเท่าไหร่กันแน่
น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นเสียงเดียวที่คอยคัดค้าน 4 กทค.ในฝันเอกชน ให้ความเห็นน่าฟังเป็นอย่างยิ่งว่ากรณีการหมดสัญญาสัมปทานย่านความถี่ 1800MHz นอกจากประเด็นว่าใครจะได้สิทธิในการบริหารคลื่นความถี่และดูแลลูกค้าภายหลังหมดสัญญาแล้วยังมีอีกประเด็นที่สำคัญและน่าจับตามองคือการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ภายหลังหมดสัมปทาน ถึงแม้จะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกสทช.โดยตรงที่จะเข้าไปดูแลเนื่องจากเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องของผู้ประกอบการที่จะต้องไปตกลงกันเอง
แต่เพราะรัฐเป็นคนกำหนดอัตราของสัญญาสัมปทานเป็นต้นแบบเอาไว้ว่าผู้ได้รับสัญญาสัมปทานจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ 30% ดังนั้นในประเด็นดังกล่าวอำนาจหน้าที่ควรจะเป็นของรัฐบาลหรือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โดยเฉพาะกสท ที่จะต้องกลับไปดูข้อกฏหมายว่าในเรื่องนี้เข้าข่ายข้อกฏหมายอะไรบ้าง อาทิ เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุนฯหรือไม่ และหากเกิดการเจรจาข้อตกลงในเรื่องส่วนแบ่งรายได้ขึ้นมาแล้วจะต้องมีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบหรือไม่
ดังนั้นจะมาสรุปว่าจะใช้อัตราส่วนแบ่งรายได้เดิมที่เคยใช้มาหรืออัตราใหม่นั้น ยังเร็วเกินไปตอนนี้เพราะยังมีกระบวนการในการดำเนินการอยู่อีกหลายขั้นตอน
ขณะที่การประชุมบอร์ดกทค.และการหารือกับผู้ประกอบการเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมาเป็นเพียงการออกร่างประกาศฯ กสทช.เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... เท่านั้นเนื่องจากยังไม่ได้มีการลงมติว่าจะให้คู่สัญญาคนไหนได้เป็นคนดูแลลูกค้าต่อไป
ขณะเดียวกันกระทรวงไอซีทีกับกสท ก็ระบุชัดเจนในที่ประชุมว่าพร้อมที่จะบริหารคลื่นความถี่ต่อไป ซึ่งหากมติบอร์ดกทค.ออกมาให้กสทดูแลลูกค้าต่อไปจริงกสทก็จะเดินหน้าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยซึ่งอาจจะจ้างดีพีซี หรือทรูมูฟก็เป็นได้ทั้ง2ทาง แต่กสทก็ต้องไปทำข้อตกลงเรื่องราคาการว่าจ้างกับเอกชนก่อน ซึ่งเบื้องต้นทางดีพีซีไม่ขัดข้องหากกสทจะเป็นผู้ให้บริการ แล้วมาจ้างบริษัท แต่ในขณะที่ทรูมูฟยังคงต้องการความชัดเจนจากมติบอร์ดกทค.ก่อนว่าจะให้ใครเป็นคนบริหาร เนื่องจากทรูมูฟก็ต้องการบริหารคลื่นความถี่ดังกล่าวเช่นเดียวกันเพราะต้องการลูกค้าในนามของทรูมูฟ ไม่ใช่เพียงแค่กสทมาจ้างทรูมูฟให้บริการเท่านั้น
'ทรูมูฟต้องการเป็นผู้ให้บริการใช้ความถี่แล้วไปเช่ากสท ส่วนดีพีซีต้องการให้กสทเป็นผู้ให้บริการหรือเป็นคนบริหารความถี่ต่อแล้วค่อยมาจ้างดีพีซีให้ดูแลลูกค้า ซึ่งทั้งหมดมีเรื่องของรายได้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยถือว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ระหว่างผู้ประกอบการ'
น.พ.ประวิทย์กล่าวว่า ท้ายที่สุดไม่ว่าใครจะเป็นคนเยียวยาลูกค้าต่อไปอีก1ปีแต่ความจริงแล้วต้นทุนในการขยายโครงข่ายไม่ต้องใช้แน่นอน เช่นเดียวกันเน็ตเวิร์กใหม่ก็ไม่ต้องลงทุนสร้าง ทำให้เรียกได้ว่าต้นทุนในการเยียวยา1ปีนั้นต่ำมาก ไม่เหมือนต้นทุนการเปิดบริการใหม่ที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
'ดังนั้นหากเอกชนได้เป็นผู้ให้บริการหรือดูแลลูกค้าต่อไปอีก 1 ปี ถ้าไม่มีการเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐมากขึ้นจากเดิมที่เคยส่งให้ 30% ก็ควรที่จะลดอัตราค่าบริการลง แต่หากใช้รายละเอียดหรือเงื่อนไขเดิม(สแตนด์สติว) ก็ไม่เห็นด้วยเพราะในเมื่อไม่ต้องลงทุนเพิ่มแล้วยังจะเอาส่วนแบ่งรายได้เท่าเดิมได้อย่างไร มันก็เหมือนกับ การกินเปล่ามีแต่ได้กับได้อย่างเดียว'
หมาก 1800 MHz ที่กำลังเดินกันอ่านได้ไม่ยาก 1.ดีพีซีของเอไอเอส ไม่กังวลเรื่องดูแลลูกค้าเพราะเหลือแค่หลักหมื่น โอนย้ายไม่ยาก แต่ต้องการให้นำความถี่ 1800 MHz มาประมูลให้เร็วที่สุดเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านความถี่ 2.ทรูมูฟ ที่อยากเป็นผู้ให้บริการ บริหารความถี่ ดูแลลูกค้าต่อไปอย่างน้อยอีก 1 ปี ด้วยส่วนแบ่งรายได้ที่กสทช.พยายามช่วยเหลือให้ลดน้อยต่ำลงกว่าส่วนแบ่งรายได้ 30% เดิม ก็เชื่อว่าทรูมูฟจะหวังโบนัสตรงนี้มาเป็นทุนประมูลความถี่ 1800 MHz เหมือน รับกระเป๋าซ้ายแล้วจ่ายกระเป๋าขวา ดีไม่ดีเหลือติดกระเป๋าเป็นทุนพิเศษอีกด้วยซ้ำ 3.ด้านกสทช.ก็จะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า 4 สุดยอด กทค.ในฝันของเอกชนยังยึดหลักทำงานแบบเดิมๆมาตั้งแต่ประมูล 3G การตัดสิน BFKT ความพยายามออกประกาศประเคน 1800 MHz ให้เอกชนอีก 1 ปี และความพยายามปั้นตัวเลขช่วยให้เอกชนจ่ายน้อยลงหรือไม่ และที่สำคัญคือ 4.กสทจะต่อรองเพื่อผลประโยชน์องค์กรมากแค่ไหน หรือ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะถือว่าองค์กรไม่ใช่ของใคร หากมีโอกาสตักตวงได้ก็ต้องรีบคว้าเอาไว้ก่อน เพราะมีตัวอย่างขี่เฟอร์รารี่เสวยสุขให้เห็นแล้วซึ่งอยู่ที่การตัดสินใจว่าจะเลือกอะไรระหว่างป.ป.ช มาตรา 157 หรือ เฟอร์รารี่
กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท ทราบแล้วเปลี่ยน !!!
Company Related Link :
NBTC