ครม.เห็นชอบขยายกรอบชดเชยผลกระทบทางเสียงสุวรรณภูมิ สำหรับสิ่งปลูกสร้างหลังปี 44-49 ภายใต้กรอบเดิม 1.12 หมื่นล้านบาท พร้อมเร่ง ทอท.จ่ายชดเชยเสียงเฟสแรกให้จบภายในปี 57 เพื่อไม่ให้กระทบต่อการพัฒนาในระยะต่อไป
นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมได้รับทราบผลการดำเนินงานการชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยเร่งรัดให้ ทอท.ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยตามงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุม ครม.ก่อนหน้านี้จำนวน 11,233.7 ล้านบาทให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2557 ซึ่งล่าสุด ณ วันที่ 28 ธันวาคม 55 ทอท.ได้จ่ายเงินชดเชยไปเพียง 3,917.5 ล้านบาท
และมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในการประชุมครั้งที่ 9/2556 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 ซึ่งรับทราบความเห็นของกระทรวงคมนาคมที่มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเห็นว่าการชดเชยการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นหน้าที่ของ ทอท.ที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในระยะต่อไป
โดยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ ทอท.พิจารณาการชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้แก่อาคารที่ปลูกสร้างระหว่างปี 2544-2549 และผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยพิจารณาจ่ายเงินชดเชยตามกรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2552 จำนวน 11,233.70 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ ได้รับทราบแนวทางการพัฒนาที่ดิน และการสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ ทอท.ได้ดำเนินการจัดซื้อมาจากผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงและอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงที่ระดับ NEF มากกว่า 40 จนถึงปัจจุบันจำนวน 180 อาคาร วงเงินประมาณ 826.39 ล้านบาท ในพื้นที่ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และเขตลาดกระบัง กทม. โดยเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพื้นที่ตั้งแต่ 50-60 ตารางวา-17 ไร่ มีทั้งอยู่ในสภาพดี และชำรุดไม่เหมาะเป็นที่พักอาศัย ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.กำลังพิจารณาแนวทาง เช่น
1. การจำหน่ายสินทรัพย์แต่อาจไม่เหมาะสมและไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ ทอท. เพราะอาจจะเกิดข้อพิพาทด้านกฎหมายเรื่องผลกระทบด้านเสียงในอนาคตได้ 2. ที่ดินซึ่งประกอบด้วยอาคารและพื้นที่ว่างเปล่าขนาดใหญ่ เห็นควรให้ผู้ประกอบการที่สนใจใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวเสนอแนวทางในการใช้ประโยชน์ที่ดินเองเพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ของตลาด 3. พิจารณาหลักเกณฑ์และข้อกำหนดที่หมาะสมอื่นๆ ที่มีความคุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ตาม ทอท.จะต้องเร่งดำเนินการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด ให้มีความรู้ความเข้าใจในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามแนวเส้นเสียง และวิธีการจ่ายเงินชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตลอดจนประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเขตความปลอดภัยในการเดินอากาศและคำพิพากษาของศาลในคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับผลกระทบด้านเสียงต่อไป