กระทรวงพลังงานร่วมกับทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เปิดผลการศึกษา “แนวโน้มพลังงานอาเซียนในอนาคต ฉบับปี 2556” (World Energy Outlook 2013) ส่งสัญญาณเตือนภูมิภาคอาเซียนเตรียมพร้อมรับมือความต้องการใช้พลังงานที่จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในอีก 22 ปีข้างหน้า หรือปี 2578 และไทยมีความเสี่ยงที่สุด เพราะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเกือบทั้งหมด ชี้ถ่านหินจะมีบทบาทเพิ่มในอนาคตของภูมิภาคนี้
พลตำราจโทร ดร.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ร่วมมือกับทบวงพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA เปิดตัวผลการศึกษา” แนวโน้มพลังงานโลกในอนาคต ฉบับปี 2556 (World Energy Outlook 2013) ฉบับพิเศษของ IEA ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่าภูมิภาคอาเซียนในอีก 22 ปีข้างหน้า หรือปี ค.ศ. 2035 เศรษฐกิจจะโตขึ้น 3 เท่าตัว จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นอีก 25% และส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานสูงกว่า 80% จึงเป็นการบ้านที่ภูมิภาคอาเซียนต้องเตรียมแผนรองรับ
ทั้งนี้ ผลการศึกษามองว่า ถ่านหินจะเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้กับภูมิภาคนี้มากขึ้นในอีก 22 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2578) จากสัดส่วนที่ใช้เฉลี่ยปัจจุบัน 30% เป็น 50% เนื่องจากราคาถ่านหินในอนาคตจะมีราคาที่ถูกกว่าเชื้อเพลิงอื่นประกอบกับในโลกยังมีแหล่งสำรองอยู่มากขณะที่เทคโนโลยีการผลิตมีประสิทธิภาพในการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะที่การใช้น้ำมันจะสูงขึ้นเป็น 6.8 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปัจจุบัน 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันสุทธิจาก 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็น 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มเป็น 80%
นอกจากนี้ IEA ยังแนะนำอาเซียนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านพลังงานว่า นโยบายของรัฐบาลอาเซียนจะต้องลดการอุดหนุนราคาพลังงาน ต้องส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายพลังงานระหว่างกัน เช่น อาเซียนกริด, อาเซียนก๊าซฯ ไปป์ไลน์, ต้องส่งเสริมนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากขึ้น โดยคาดว่าการลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจะมีวงเงินลงทุนสูง 330,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานได้ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอาเซียนได้อีก 2% ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันได้ 700,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากรายงานของ IEA ไทยมีความน่าห่วงสุดเพราะต้องนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ขณะนี้เพิ่มขึ้นจาก 25% เป็นการนำเข้าเกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับน้ำมันที่นำเข้าเกือบทั้งหมดจากปัจจุบันนำเข้า 65% แต่โชคดีที่ไทยมีแผนการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและแผนอนุรักษ์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมค่อนข้างมาก ก็จะช่วยลดผลกระทบได้ระดับหนึ่งในอนาคตหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้
“ในอาเซียนถ่านหินจะมีบทบาทมากขึ้น เพราะเป็นแหล่งสำรองที่สำคัญ โดยเฉพาะการผลิตจากอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าในปี 2578 คาดจะมีการใช้ถ่านหินเพื่อการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 700 ล้านเมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ จะนำข้อแนะนำของรายงานมาประกอบการจัดทำแผนพลังงาน เช่น แผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว หรือพีดีพี ที่กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุง ซึ่งในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากไม่สามารถสร้างขึ้นในประเทศไทยก็มีความร่วมมือกับเพื่อนบ้านในการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทวายในพม่า เป็นต้น” นายสุเทพกล่าว