xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนยังหวั่นใจรัฐลดภาษีฯ สินค้าฟุ่มเฟือย จ่อชงเวที “กรอ.” ก.ย.ค้านสุดลิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคเอกชนเตรียมเสนอเวที “กรอ.” เดือน ก.ย.นี้ทบทวนนโยบายการลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยบางรายการ เหตุไม่ตอบโจทย์กระตุ้นท่องเที่ยวแต่กำลังอุ้มห้างสรรพสินค้า กังขารัฐเพิ่มค่าแรง 300 บาท/วัน ลดภาษีฯ สินค้าฟุ่มเฟือยจะนำระบบ ศก.ไทยพึ่งภาคบริการมากกว่าภาคการผลิตหรือไม่

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนร่วม 3 สถาบัน (กกร.) เตรียมเสนอในเวทีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ โดยจะขอให้ทบทวนนโยบายที่สำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ การลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยบางรายการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และการทบทวนการจ้างแรงงานคนพิการในสถานที่ประกอบการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งนี้เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย

สำหรับกรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดที่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยบางรายการมองว่าไม่ได้ตอบโจทย์ของการกระตุ้นการท่องเที่ยวแต่อย่างใด แต่รัฐบาลกำลังจะตอบสนองห้างสรรพสินค้าให้ขายพื้นที่มากกว่า เพราะเมื่อแบรนด์เนมราคาถูกลงก็ย่อมสนใจเข้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้น และเมื่อราคาสินค้าแบรนด์เนมต่างประเทศราคาถูกลงก็ย่อมทำให้คนไทยหันไปซื้อมากกว่าที่จะซื้อสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นของไทยทำให้เกิดการเสียดุลการค้าเพิ่มขึ้น

“รัฐไม่ควรมองผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหากจะกระตุ้นท่องเที่ยวควรมองไปที่การขยายร้านค้าปลอดภาษีหรือดิวตี้ฟรีเพื่อจำหน่ายสินค้าให้กับนักลงทุนในจุดท่องเที่ยวสำคัญๆ มากขึ้น ซึ่งแนวคิดนี้ทั้งสิงคโปร์ และฮ่องกงเขาทำกันเพราะเหตุผลคือเขาไม่มีฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่เลย แต่ไทยมี และหากแบรนด์ของไทยขายไม่ได้รัฐไม่ส่งเสริมมันก็ทำลายอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ไปด้วย” นายวัลลภกล่าว

นายเจน นำชัยศิริ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่ผ่านมาก็ถือว่าทำร้ายธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยพอสมควร และล่าสุดรัฐบาลมีแนวคิดที่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยอีกยิ่งทำให้เห็นอะไรบางอย่างถึงแนวคิดรัฐบาลที่พยายามนำประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคบริการมากกว่าภาคการผลิตหรือไม่ ซึ่งจุดนี้รัฐบาลควรจะชัดเจนและเห็นว่าควรจะต้องวางสมดุลของโครงสร้างเศรษฐกิจและควรทบทวนท่าทีตรงนี้ด้วย เพราะหากเอสเอ็มอีไทยไม่เข้มแข็งและแย่ลงเรื่อยๆ คำตอบคืออุตสาหกรรมสนับสนุนของไทยก็จะด้อยประสิทธิภาพลงและในที่สุดฐานการผลิตที่เข้มแข็งในปัจจุบันก็ย่อมถดถอยและสู้ตลาดโลกไม่ได้ จุดนี้ถือว่าอันตรายมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น