เผยตัวเลขการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอ 8 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-ส.ค. 56 ) มีกิจการยื่นขอ 1,310 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 7.02 แสนล้านบาท โดยพบว่าหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนกิจการลดลง 48 กิจการแต่มูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 9 หมื่นล้านบาท ขณะที่การยื่นขอลงทุนเฉพาะเดือน ส.ค.มีทั้งสิ้น 118 กิจการ ซึ่งถือเป็นการยื่นขอต่ำสุดในรอบปีนี้ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว “บีโอไอ” มั่นใจปีนี้ยังคงเป้ายื่นลงทุนล้านล้านบาท
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอ 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 56) มีการขอรับส่งเสริมทั้งสิ้น 1,310 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 7.02 แสนล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-ส.ค. 55) ที่ยื่นขอรับ 1,310 พบว่าจำนวนโครงการลดลง 48 โครงการ แต่เงินลงทุน ม.ค.-ส.ค. 55 อยู่ที่ 6.11 แสนล้านบาท เงินลงทุนจึงเพิ่มขึ้น 9.1 หมื่นล้านบาท โดยญี่ปุ่นยังคงครองแชมป์การลงทุนสูงสุดที่ 434 โครงการ รองลงมาเป็นยุโรป สิงคโปร์ อเมริกา ตามลำดับ
สำหรับกิจการที่ขอยื่นรับฯ มากสุดใน 8 เดือนแรกเป็นกิจการประเภทบริการและสาธารณูปโภคจำนวนทั้งสิ้น 351 โครงการ มูลค่าลงทุน 3.28 แสนล้านบาท อันดับ 2 เป็นผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง 281 โครงการ มูลค่า 1.72 แสนล้านบาท อันดับ 3 เป็นกิจการภาคเกษตรและผลิตผลทางการเกษตร 264 โครงการมูลค่า 9.2 หมื่นล้านบาท อันดับ 4 เป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 206 โครงการ มูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากแยกการลงทุนเป็นรายเดือน โดยเดือน ส.ค. 56 พบว่ามีกิจการที่ยื่นขอลงทุนทั้งสิ้น 118 กิจการคิดเป็นมูลค่า 3.8 หมื่นล้านบาท โดยหากเทียบเฉพาะในปีนี้พบว่าเป็นจำนวนกิจการที่ยื่นขอต่ำสุดในรอบปี 2556 เนื่องจากภาวะการลงทุนชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมามีการยื่นขอลงทุนจำนวนมากผิดปกติ
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ช่วง ก.ค.-ส.ค. การขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งไทยและต่างชาติมีเข้ามาต่อเนื่อง แต่ขยายตัวแบบชะลอลงจากทั้งภาวะเศรษฐกิจที่มีสัญญาณอ่อนตัวลงทั้งในและต่างประเทศ นักลงทุนบางส่วนจึงรอดูสถานการณ์ก่อน และอีกปัจจัยหนึ่งคือเรื่องของฤดูกาล ที่ช่วงไตรมาสที่ 3 ยอดขอรับส่งเสริมฯ จะชะลอลง แต่จะไปเพิ่มขึ้นอีกครั้งคือช่วงปลายปี
“ยอดขอรับส่งเสริมฯ รวมปีนี้คงไม่สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาทเท่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีที่ผิดปกติเนื่องจากมีการลงทุนฟื้นฟูหลังน้ำท่วม แต่ค่อนข้างมั่นใจว่ายอดทั้งปี 2556 จะเป็นไปตามคาดที่ 1 ล้านล้านบาท” นายอุดมกล่าว
แหล่งข่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ยอดขายพื้นที่ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาพบว่ามีการชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากนักลงทุนมีการชะลอดูทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่แรงซื้อลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม ไทยเองยังเป็นฐานการผลิตสำคัญและนักลงทุนจะมองการลงทุนระยะยาวที่จะรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558 จึงเชื่อว่าผลกระทบจะเป็นระยะสั้นๆ เท่านั้น
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านการตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายยอดขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ 3,000 ไร่ แม้ว่าทิศทางการลงทุนจะมีการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกบ้างแต่เชื่อมั่นว่าครึ่งปีหลังตัวเลขการย้ายฐานการผลิตน่าจะโดดเด่นกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากจีนและญี่ปุ่นยังมีการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมสนับสนุนเข้ามาจำนวนมาก เนื่องจากมองไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เป็นต้น