รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แจงกรณีผู้ประสานงานกลุ่มกรีน วิจารณ์การเดินทางไปต่างประเทศของนายกฯ ยันส่งผลคุ้มค่า อ้างตัวเลขส่งออกกลุ่มประเทศที่เดินทางโต 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกด้านวอนเข้าร่วมเวทีปฏิรูปการเมืองของรัฐบาล ดีกว่าตั้งเวทีสภาปฏิรูปคู่ขนาน
วันนี้ (9 ก.ย.) นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ที่วิพากษ์วิจารณ์การเดินทางไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า ถือเป็นมาร์เก็ตติ้งที่ขาดทุนว่า การเดินทางของนายกฯทุกครั้งเป็นการไปตามคำเชิญของประเทศนั้นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านการลงทุน รวมถึงนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคภาคเอกชน ร่วมคณะไปด้วยเพื่อเป็นการเปิดตลาดใหม่ ทั้งนี้จะเห็นได้จากตัวเลขการลงทุน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ประเมินในช่วงเดือน ส.ค.ของทุกปี พบว่าในปี 54 ที่มีอุทกภัยครั้งใหญ่ มีตัวเลขการลงทุนของต่างชาติอยู่ที่ 3.22 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลนี้ได้เข้ามาบริหารประเทศใหม่ก็มีความเป็นห่วงว่าในปี 55 นักลงทุนต่างชาติจะถอนการลงทุนออกไป จึงได้เดินทางไปยังประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความมั่นใจ ทำให้ตัวเลขการลงทุนพุ่งขึ้นไปถึง 6.11 แสนล้านบาท ต่อเนื่องมาถึงปี 56 ที่ตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้นไปที่ 7 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจในการลงทุนในประเทศไทย
นายชลิตรัตน์ กล่าวต่อถึงตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยว่า ในปี 54 มีมูลค่าการส่งออก 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนปี 55 เพิ่มขึ้นมาเป็น 2.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 56 ในช่วงครึ่งปีแรก อยู่ที่ 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมามีการปรับเพิ่มขึ้น ทั้งที่ประเทศอื่นในภูมิภาคมีอัตราการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ถือเป็นผลมาจากการที่นายกฯได้นำภาคเอกชนไทยร่วมคณะไปเยือนต่างประเทศด้วยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งภาคเอกชนเหล่านั้นก็สะท้อนกลับมาว่า ตัวเลขการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่คณะของนายกฯ ได้เดินทางไปนั้น เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
“อยากจะให้ คุณสุริยะใส หรือผู้ที่ออกมาวิจารณ์การไปเยือนต่างประเทศของนายกฯ ได้ศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อนจะออกมาพูดในแง่ลบกับรัฐบาล หรือวิจารณ์อย่างไม่เป็นธรรม โดยหน่วยงานของรัฐมีข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ชัดเจน และในความเป็นจริงรวมทั้งเสียงสะท้อนของภาคเอกชนนั้น ตรงข้ามกับที่มีผู้ออกมาบอกว่าขาดทุน เฉพาะตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเทียบไม่ได้กับค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคณะนายกฯเลย” นายชลิตรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ นายชลิตรัตน์ ยังกล่าวอีกว่า การที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือในส่วนของสินค้าโอทอป ได้เดินทางร่วมคณะไปด้วยนั้น เป็นนโยบายการขยายตลาดของรัฐบาล ซึ่งดูได้จากตัวเลขส่งออกของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสินค้าโอทอป ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 56 ก็มีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาท
นายชลิตรัตน์ ยังได้กล่าวถึงการที่นายสุริยะใส เตรียมตั้งสภาปฏิรูป คู่ขนานไปกับเวทีปฏิรูปของรัฐบาลว่า จากการประชุมครั้งแรกของเวทีปฏิรูปที่รัฐบาลได้จัดทำ ก็มีทุกภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมอยู่แล้ว อีกทั้งรัฐบาลก็เปิดกว้างอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ และผู้ที่เข้าร่วมก็จะได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ หากผู้ใดหรือกลุ่มใดอยากจะแสดงความเห็นอย่างไรก็ขอให้เข้ามาพูดในเวทีนี้ ไม่มีความจำเป็นที่จะไปตั้งเวที หรือสภาปฏิรูปอีกชุดหนึ่ง หากเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ก็ขอให้เข้าร่วมเวทีปฏิรูปการเมืองของรัฐบาล