xs
xsm
sm
md
lg

“อังค์ถัด” แนะทางออก ศก.ไทย รัฐต้องกระตุ้นบริโภคในประทศ ลดพึ่งพาส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อังค์ถัด” แนะรัฐกระตุ้นบริโภคในประเทศ-ลดพึ่งพาส่งออก เงินทุนไหลเข้า เพราะทำให้ ศก.ผันผวนรุนแรง หากเกิดวิกฤตอาจมีผลกระทบยาวนาน ย้ำไม่ควรใช้นโยบายรัดเข็มขัด เพราะทำให้กำลังซื้อลดลง เป็นผลพวงให้ ศก.ถดถอย และยืดเยื้อ

นายวัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) เปิดเผย “รายงานการค้าและการพัฒนา 2013” ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด โดยระบุว่า อังค์ถัดประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 โดยประเทศพัฒนาแล้วเติบโตเพียงร้อยละ 1 ประเทศกำลังพัฒนาขยายตัวถึงร้อยละ 4.5 โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกที่จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.5 ดังนั้น กลุ่มประเทศเหล่านี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจโลก และจะมีบทบาทมากขึ้นจากการรวมตัวกันในภูมิภาค เช่น อาเซียน+3, อาเซียน+6 แต่การเติบโตดังกล่าวยังไม่สมดุลและยั่งยืน เพราะใช้การส่งออกมาเป็นตัวนำเศรษฐกิจมากจนเกินไป อังค์ถัดเห็นว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอยหรือเกิดช็อกครั้งใหญ่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ

ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้ประเทศที่กำลังพัฒนาหันมากระตุ้นอุปสงค์ หรือการอุปโภคบริโภคในประเทศแทนการพึ่งพาการส่งออก และสนับสนุนให้เกิดการค้าระหว่างกันมากขึ้น เพราะเมื่อเกิดการรวมตัวเข้าสู่เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชากรจะมีมากขึ้นถึง 600 ล้านคน ดังนั้น การที่ไทยหันมาส่งออกให้กลุ่มประเทศในอาเซียนมากขึ้นจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้อง โดยสัดส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.8 ในปี 2535 เป็นร้อยละ 25 ในปี 2555

“อังค์ถัดเน้นย้ำว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย ทุกประเทศไม่ควรใช้นโยบายรัดเข็มขัด เพราะทำให้กำลังซื้อลดลง เป็นผลพวงให้เศรษฐกิจถดถอย และยืดเยื้อ อังค์ถัดแนะนำให้ใช้นโยบายการเงิน และนโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคในประเทศ”

นอกจากนี้ อังค์ถัดยังเสนอแนะให้ประเทศกำลังพัฒนาลดการพึ่งพิงเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากมีความผันผวนอย่างมาก สร้างความเสี่ยงสูงและเข้ามาเก็งกำไรในสินทรัพย์ทางการเงิน ทำให้เสี่ยงเกิดภาวะฟองสบู่และอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่า ประเทศกำลังพัฒนาควรหันมาพึ่งเงินทุนในประเทศมากขึ้น ลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเน้นการให้เงินทุนกับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานสูง ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรมีมาตรการบางอย่างเพื่อให้ประชาชนในระดับรากหญ้าได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้า เพราะจะทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่ากลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาใกล้ถึงจุดตึงตัวของการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเริ่มเห็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีข้อจำกัดในการขาดดุลได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 5 ของจีดีพี ส่วนข้อเสนอที่อังค์ถัดให้พึ่งพาการอุปโภคบริโภคในประเทศนั้น ในส่วนของไทยคงทำได้ยาก เพราะหลังจากรัฐบาลดำเนินโครงการลดภาษีรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรกประชาชนมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น แม้จะไม่สูงมากถึงขั้นจะเกิดวิกฤต แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ความหวังที่จะให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นคงลำบาก ดังนั้น ไทยควรดำเนินนโยบายที่กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน ทำให้คนมีรายได้ ผลผลิตสูงขึ้น คนก็จะมีกำลังซื้อและบริโภคมากขึ้นตามไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น