กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งยกระดับอุตฯไทยเดินตามรอย”สิงคโปร์” วางเป้า 15 นิคมฯก้าวสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในปี 2557 ปีนี้ประเดิมเพิ่มอีก 3 แห่งที่นิคมฯลาดกระบัง บางพลี บางปะอิน พร้อมเล็งผุดนิคมฯอากาศยานและการบินที่”โคราช” รองรับ AEC
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรม เปิดเผยถึงการนำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนเดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสิงคโปร์ภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ณ นิคมฯจูร่ง ว่า นิคมฯจูร่งเป็นเขตเศรษฐกิจและบริการที่ใหญ่สุดของสิงคโปร์มีต้นแบบการบริหารจัดการทุกอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดและชุมชน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้วางนโยบายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวกับสิงคโปร์ในอนาคตโดยระยะแรกได้ผลักดันให้นิคมฯ/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรม ก้าวสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ(Eco Industrial Town)นำร่องโดยในปีนี้จะมีเพิ่มอีก 3 แห่งได้แก่ นิคมฯลาดกระบัง บางพลี และบางปะอินรวมเป็น 12 แห่งและในปี 2557 จะมีทั้งหมด 15 แห่ง
“ Clean Tech Park ของสิงคโปร์เป็นการพัฒนาอาคารโรงงานใหม่ล่าสุดคาดว่าจะสมบูรณ์สุดในปี 2573 ที่ได้เปิดตัวอาคารเป็นทางการระยะแรกส.ค.ที่ผ่านมาโดยเน้นอาคารให้เช่าสำหรับธุรกิจที่เน้นวิจัยและเทคโนโลยีที่มีการให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติมากสุด แม้กระทั่งไฟฟ้าก็ผลิตจากแสงอาทิตย์ ไทยเองก็มีโครงการลักษณะนี้อยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมไทยไดมอนด์ซิตี้ ที่จ.เพชรบุรี พื้นที่ 1,000 ไร่โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ร่วมกับบริษัทเพชรไทยพัฒนา จำกัด พัฒนารูปแบบนิคมฯประเภทธุรกิจบริการเช่น สถาบันศึกษา สนามกอล์ฟ ฯลฯ “นายวิฑูรย์กล่าว
ทั้งนี้ไทยเองมีเป้าหมายที่จะผลักดันการพัฒนานิคมฯเชิงนิเวศเพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นสีเขียวอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน คำนึงถึงผลกระทบรอบด้านทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งอนาคตเองการพัฒนาอุตสาหกรรมจะต้องไปในทิศทางนี้จึงคาดว่าการจัดตั้งนิคมฯในรูปแบบแนวคิดสีเขียวจะได้รับการตอบรับการลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศแม้ว่าอาจจะทำให้ค่าเช่าพื้นที่แพงขึ้นไปบ้างก็ตาม
นายวิฑูรย์กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมในสิงคโปร์มุ่งเน้นการพัฒนาและวิจัยมากขึ้นและการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ปี 2558 ทำให้สิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความได้เปรียบเนื่องจาก 1. สิงคโปร์มีระบบพิธีการศุลกากรที่รวดเร็วมาก 2. สิงคโปร์มีพื้นฐานการเป็นผู้นำเข้าและส่งออกหรือ เทรดเดอร์ในภูมิภาคนี้และของโลก และ 3. สิงคโปร์จัดตั้งนิคมฯอุตสาหกรรมอากาศยานและการบินขึ้นเป็นการเฉพาะที่ Seletar Aerospace Park ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทย กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงคมนาคมเองก็วางเป้าให้อุตฯนี้เป็น 1 ใน 5 อุตฯหลักที่ไทยจะส่งเสริมให้เกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าเช่นเดียวกับสิงคโปร์ เพื่อทำให้ไทยเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจอีกประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้
“ ขณะนี้อุตสาหกรรมอากาศยานและการบินจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่างก็ย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนสนใจเข้ามามาก และการก่อสร้างสุวรรณภูมิทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมองไปยังพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาที่จะรองรับการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมการบินประกอบด้วยศูนย์การผลิตยางล้อและชิ้นส่วนเครื่องบิน รวมทั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน”นายวิฑูรย์กล่าว