“ชัชชาติ” สั่งตำรวจทางหลวงเข้มงวดรถบรรทุกจอดเสียข้างทาง ยันต้องมีเครื่องหมายแจ้งเตือนให้เห็นก่อน 150 เมตร ไม่มีให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที เผยอุบัติเหตุรถตู้พุ่งชนพ่วงสิบแปดล้อเพราะจอดเสียกินเลน กำชับ ขบ.แจ้งผู้ประกอบการขนส่งปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัด พร้อมขอความร่วมมือ ปภ.เป็นศูนย์กลาง Call Center รับแจ้งรถเสียเพื่อให้ความช่วยเหลือเร็วที่สุด
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์รถตู้โดยสารสายปราจีนบุรี-กรุงเทพฯ พุ่งชนท้ายรถพ่วงสิบแปดล้อที่จอดเสียบนทางหลวงหมายเลข 3481 และทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 7 ราย เมื่อช่วงเช้าวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น พบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงเนื่องจากรถพ่วงดังกล่าวจอดคร่อมไหล่ทางโดยตัวรถยื่นเข้ามาช่องจราจรทำให้รถตู้พุ่งชนอย่างแรง ซึ่งเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมได้หารือกับผู้บริหารกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตำรวจทางหลวง และผู้แทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยจะดำเนินการ 3 แนวทาง
คือ 1. มอบหมายให้นายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดี ขบ.แจ้งผู้ประกอบการขนส่งทุกรายกรณีรถบรรทุกเสียหรือต้องจอดพักรถให้ปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัด โดยจะต้องมีอุปกรณ์แจ้งหรือแสดงให้รถคันอื่นเห็นได้ชัดเจนในระยะ 150 เมตร เช่น เครื่องหมายสะท้อนแสง หรือไฟเตือน 2. กำชับให้ตำรวจทางหลวงกวดขันรถที่จอดข้างทางให้ปฏิบัติตาม กรณีพบจอดข้างทางโดยไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องหมายแจ้งเตือนจะต้องดำเนินการเอาผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง และ 3. ขอความร่วมมือจาก ปภ.เป็นศูนย์กลางประสานข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือกรณีมีเหตุรถบรรทุกเสีย โดยตั้ง Call Center สำหรับการแจ้งขอความช่วยเหลือ เนื่องจาก ปภ.เป็นหน่วยงานที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งมีถนนในความรับผิดชอบของหน่วยงานท้องถิ่น เช่น เทศบาล ซึ่งไม่ใช่ถนนของ ทล.และ ทช. อาจมีปัญหาในเรื่องการประสานข้อมูล โดยกระทรวงคมนาคมพร้อมสนับสนุนในด้านอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็น
“กรณีรถตู้สายปราจีนบุรีชนท้ายรถพ่วงสิบแปดล้อ พบว่ารถพ่วงจอดเสียมาตั้งแต่ช่วง 3 ทุ่ม เปิดไฟกระพริบจนไฟหมดก็ไม่มีใครไปดูแลในที่สุดก็เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้น ดังนั้น 2 แนวทางแรกสามารถดำเนินการได้ทันทีแบบเข้มข้น ส่วนศูนย์ประสานข้อมูลความช่วยเหลือที่เสนอให้ ปภ.รับเป็นเจ้าภาพนั้น จะต้องรอทาง ปภ.กลับไปพิจารณาก่อนว่าจะดำเนินการได้หรือไม่” นายชัชชาติกล่าว
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ คือ จะต้องทำจุดพักรถ (Rest Area) สำหรับรถบรรทุกเพิ่ม ซึ่งทางกรมทางหลวงมีแนวคิดจะพัฒนาจำนวน 7 แห่ง แต่ทางผู้ประกอบการเห็นว่าจุดที่กำหนดไม่อยู่ในเส้นทางขนส่ง ไม่สะดวกในการใช้ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเหมาะสมของโครงการจุดพักรถ ส่วนระยะเร่งด่วนอาจจะต้องพิจารณาหาพื้นที่ของกรมทางหลวงหรือที่ราชพัสดุมาปรับปรุงเป็นจุดพักรถเพื่อใช้งานชั่วคราวไปก่อนเพื่อลดปัญหาในบางเส้นทาง โดยในสัปดาห์หน้าจะประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีกครั้ง