“พ้อง” สั่งกรมเจ้าท่ายกเครื่องมาตรฐานความปลอดภัย ความสะดวกท่าเทียบเรือ สร้างความมั่นใจเป็นทางเลือกเดินทางก่อนคิดขึ้นค่าโดยสาร พร้อมสั่งรื้อแผนปรับปรุงท่าเรือริมเจ้าพระยา เร่งให้เสร็จในปี 58 จากแผนเดิมปี 60 ฟุ้งผลักดันงบประมาณให้เต็มที่ “กรมเจ้าท่า” เผยแผนปรับ 21 ท่าเรือให้ทันสมัย รวม 55.6 ล้านบาท
นายพ้อง ชีวานันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ได้สั่งให้กรมเจ้าท่า (จท.) ปรับแผนการปรับปรุงท่าเทียบเรือให้เสร็จเร็วขึ้นจากเดิมที่จะเสร็จทั้งหมดในปี 25560 ซึ่งทราบว่าการปรับปรุงต้องล่าช้าเพราะได้รับจัดสรรงบประมาณแต่ละปีไม่มาก โดยจะผลักดันให้เสร็จในปี 2558 เนื่องจากการปรับปรุงท่าเรือจะทำให้ผู้ใช้บริการมีความสะดวกปลอดภัย ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการเรือโดยสารเป็นทางเลือกมากขึ้นเพราะสามารถควบคุมเวลาในการเดินทางได้ แต่หากสภาพท่าเรือทรุดโทรม สกปรก และไม่ปลอดภัยก็คงจะไม่มีใครอยากมาใช้
ทั้งนี้ ในระยะเร่งด่วนจะต้องจัดการเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ การยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยทั้งบนท่าเทียบเรือ และภายในเรือ โดยเฉพาะเรือลำเล็กกรมเจ้าท่าจะต้องกวดขันให้ผู้โดยสารใส่เสื้อชูชีพขณะลงเรือ ซึ่งพบว่าในปัจจุบันยังไม่ปฏิบัติตาม รวมถึงเรือนักท่องเที่ยวต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ส่วนการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุขึ้นนั้น ปัจจุบันมี 3 จุดตลอดลำน้ำสามารถไปถึงที่เกิดเหตุหลังได้รับแจ้งในเวลาไม่เกิน 10 นาทีนั้น เห็นว่าควรจะปรับให้ไปถึงเร็วขึ้น ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มจุดดูแลช่วยเหลือให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่และเครื่องมือต่างๆ ด้วยหรือไม่
“การปรับขึ้นค่าโดยสารของเรือประเภทต่างๆ นั้นจะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับเรื่องความปลอดภัย ความสะดวกในการใช้บริการ หากจะขึ้นค่าโดยสารโดยที่ยังไม่มีการปรับปรุงมาตรฐานบริการก่อนคงพิจารณาให้ลำบาก” นายพ้องกล่าว
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยามีจำนวน 40 ท่า โดยแต่ละปีจะได้รับงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมประมาณ 5 ล้านบาท ส่วนแผนการปรับปรุงท่าเรือ ศาลาพัก โป๊ะเทียบเรือ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการให้มีความทันสมัยเพื่อเสนอของบประมาณในปี 2558 จำนวน 9 ท่า วงเงินรวม 25.7 ล้านบาท (ท่าสาทรฝั่งพระนคร, ท่าสี่พระยา, ท่าราชวงศ์, ท่าวังหลัง, ท่าพระปิ่นเกล้าธนบุรี, ท่าเทเวศร์, ท่าพระราม 7, ท่าพระราม 5, ท่านนทบุรี) เสนอของบประมาณปี 2559 อีก 5 ท่า วงเงิน 11.9 ล้านบาท (ท่ากรมเจ้าท่า, ท่าโอเรียนเต็ล, ท่าสะพานพุทธ, ท่าซังฮี้, ท่าช้าง) และปี 2559 จำนวน 7 ท่า วงเงิน 18 ล้านบาท (ท่าราชินี, ท่ารถไฟ, ท่าพายัพ, ท่าเกียกกาย, ท่าเขียวไข่กา, ท่าบางโพ, ท่าพระอาทิตย์)
ส่วนแผนปรับปรุงการให้บริการและด้านความปลอดภัยในระยะสั้นดำเนินการใน 3 เดือน เช่น ออกประกาศกรมเจ้าท่าในการตรวจวัดแอลกอฮอล์พนักงานขับเรือพร้อมบทลงโทษ แก้ไขข้อกำหนดในการตรวจวัดระดับเสียง ประสานผู้ประกอบการเรือโดยสารเพิ่มราวกันตกบริเวณทางขึ้น-ลงท้ายเรือ ระยะกลางดำเนินการใน 6 เดือน เช่น แก้กฎข้อบังคับการตรวจสภาพเรือจากปีละ 1 ครั้งเป็นปีละ 2 ครั้ง แก้ไขข้อบังคับให้เรือโดยสารสาธารณะประจำทางมีวิทยุสื่อสารรับส่งข้อมูล นำเสนอรัฐมนตรีพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบ park & ride และมาตรการระยะยาวดำเนินการใน 2-3 ปี เช่น พัฒนาตัวเรือร่วมกับเอกชนให้มีความเหมาะสม เพิ่มมาตรการตรวจควันดำ ศึกษาสำรวจเส้นทางเดินเรือใหม่ๆ เพิ่มเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำท่าเรือ เป็นต้น