xs
xsm
sm
md
lg

สนข.เปิดแผนแก้จราจรเมืองปทุมฯผุดฟีดเดอร์6 สายเชื่อมรถไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนข.แก้จราจรเมืองปทุม/14ส.ค.
สนข.เผยผลศึกษาแก้จราจรปทุมธานี เสนอลงทุน 9พันล้าน ผุดรถบีอาร์ที 3 สาย- Shuttle Bus 3 สายเป็นฟีดเดอร์เชื่อมรถไฟฟ้าสีเขียวและสีแดง ตั้งเป้าเปิดให้บริการพร้อมรถไฟชานเมืองสายสีแดง คิดค่าโดยสารพิเศษ 10 บาทตลอดสาย ส่วนชาวปทุมฯ ยังไม่เชื่อบีอาร์ทีแก้รถติดได้ ชี้กทม.ตัวอย่างทำแล้วล้มเหลว 

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานการสัมมนารับฟังความเห็นครั้งที่ 2 งานศึกษาการเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารจากระบบขนส่งมวลชนระยะที่ 1 เขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี โดยที่ปรึกษาเสนอผลการศึกษาควรจัดทำระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เข้าสู่รถไฟฟ้าซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักที่มีแนวเส้นทางเข้าสู่พื้นที่ 2 สาย ได้แก่ สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยเห็นควรทำระบบขนส่งมวลชนระบบรอง เป็นรูปแบบรถเมล์ด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที เนื่องจากสามารถก่อสร้างได้เร็ว ใช้งบประมาณต่ำกว่าการทำรถไฟฟ้า โดยรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ถึง 4,000-8,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง

โดย ก่อสร้างและเปิดให้บริการใน 3 สายทาง ได้แก่ สายทางที่ 1 สถานี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต – หออัครศิลปิน เชื่อมต่อจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปตาม ถ.คลองหลวงผ่านวัดพระธรรมกาย สิ้นสุดที่บริเวณหออัครศิลปิน ถ.คลองห้า ระยะทางประมาณ 13.63 ก.ม. กำหนดเปิดบริการในปี พ.ศ.2562 สายที่ 2 สถานีรังสิต – เมืองปทุมธานี เชื่อมต่อจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีรังสิต ไปตาม   ถ.รังสิต-ปทุมธานี จนถึงศาลากลางจังหวัดปทุมธานี ระยะทางประมาณ 12.05 ก.ม. และสายที่ 3 สถานีรังสิต – ธัญบุรี เชื่อมต่อจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีรังสิต วิ่งไปตาม ถ.รังสิต-นครนายก ผ่านฟิวเจอร์ปาร์ค ดรีมเวิลด์ สิ้นสุดที่   ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ระยะทางประมาณ 16.22 ก.ม. โดยในส่วนของสายที่ 2 และ 3 นั้น เป็นโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อกันจึงใช้การพัฒนาร่วมกัน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เมืองปทุมธานี – คลอง 1 เปิดบริการในปี พ.ศ. 2561 และระยะที่ 2 คลอง 1 – ธัญบุรี เปิดบริการในปี พ.ศ. 2565 โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนรองทั้ง 3 สายทางไว้ที่ 10 บาทตลอดสาย คาดใช้เงินลงทุนรวม 3 เส้นทาง ประมาณ 9,000 ล้านบาท

ส่วนระบบขนส่งมวลชนเสริม ใช้รูปแบบรถ Shuttle Bus หรือรถตู้ เปิดให้บริการใน 3 สายทาง ได้แก่ สายที่ 1     ถ.คลองหลวง- ถ.รังสิต-นครนายก เริ่มจาก ถ.คลองหลวง บริเวณหน้าวัดพระธรรมกาย เข้าสู่ ถ.คลองสอง ถ.รังสิต-นครนายก ถ.คลองสาม และกลับสู่ ถ.คลองหลวง สายที่ 2 ถ.ลำลูกกา–ถ.รังสิต-นครนายก เริ่มจาก ถ.รังสิต-นครนายก ช่วงระหว่างคลองสองกับคลองสาม เข้าสู่ ถ.ฟ้าคราม ถ.ลำลูกกา ถ.ชลมาร์คพิจารณ์ แล้วกลับสู่ ถ.รังสิต-นครนายก และสายที่ 3 สถานีคูคต – วงแหวนรอบนอก เชื่อมต่อจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีคูคตไปตาม ถ.ลำลูกกา เลยจุดตัด ถ.วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก สิ้นสุดที่บริเวณหน้าห้างบิ๊กซีลำลูกกา พร้อมกันนี้ยังได้กำหนดที่ตั้งอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) สำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต) ไว้ที่บริเวณสถานีรังสิต และรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่บริเวณสถานี กม.25 และลำลูกกาในอนาคต เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางอย่างสูงสุดอีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ดำเนินการแล้วเสร็จ จะส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นเมืองปริมณฑลที่สำคัญของกรุงเทพ ฯ และมีอัตราการขยายตัวของเมืองสูงหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะมากขึ้น ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดการก่อมลพิษ และนำไปสู่การแก้ปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นต้นแบบให้จังหวัดต่างๆ ในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานครได้นำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้จะให้ปทุมธานีเป็นการต้นแบบในการออกแบบการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ชุมชนในอนาคต ที่เลือกรูปแบบรถบีอาร์ทีเห็นว่าเหมาะสม เพราะลงทุนไม่สูงเท่ารถไฟฟ้าเริ่มโครงการได้รวดเร็ว ไม่อยากให้มองว่าบีอาร์ทีจะล้มเหลว เชื่อว่าหากสามารถกำหนดระยะเวลาการเดินทางได้ตรงเวลาเหมือนรถไฟฟ้า จะเปลี่ยนให้ประชาชนทิ้งรถส่วนตัวหันมาใช้บริการได้ อย่างไรก็ตามต้องนำผลการศึกษานี้เสนอในที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) อนุมัติโครงการก่อน จึงจะเดินหน้าต่อได้
 
โดย ในการสัมมนาครั้งนี้มีประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 300 คน โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้รูปแบบรถบีอาร์ทีในระบบขนส่งมวลชนระบบรอง โดยเห็นว่าไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรได้ ซึ่งเห็นแบบอย่างโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จในพื้นที่กรุงเทพฯ และอยากให้ศึกษาแก้ปัญหาจราจรในเส้นทางอื่นๆ ในพื้นที่ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น