เริ่มแล้วลดค่าโดยสารรถ BRT สายสาทร-ราชพฤกษ์ เหลือ 5 บาทตลอดสายถึงสิ้นปีนี้ “อมร” เผยขอเลื่อนชี้แจงดีเอสไอกรณีบีทีเอสอีก 1 เดือน
นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่บัดนี้จนถึงสิ้นปี 2556 กทม.ได้ลดราคาค่าโดยสารรถประจำทางด่วนพิเศษ หรือ รถบีอาร์ที (BRT) สายสาทร (ช่องนนทรี)-ราชพฤกษ์ เส้นทางถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนพระรามที่ 3 ไปจนสุดทางถนนราชพฤกษ์ เหลือ 5 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 มาตรการเร่งด่วนตามนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ที่ได้รับปากไว้กับประชาชน โดยการลดราคาครั้งนี้มุ่งหวังให้ประชาชนได้ใช้บริการรถบีอาร์ทีมากขึ้น เนื่องจากพบว่า ในช่วงการทดลองระบบเดินรถตั้งแต่เปิดให้บริการมีผู้ใช้บริการรถบีอาร์ที ประมาณ 20,000 คน/วัน แต่ภายหลังมีการจัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 10 บาท จำนวนผู้ใช้บริการลดลงเหลือ 16,000 คน/วัน ซึ่งเมื่อมีการสำรวจในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาผู้ใช้บริการพบว่าอัตราค่าเดินทางมีผลต่อการตัดสินใจ ดังนั้น กทม.พิจารณาแล้วว่าการลดราค่าโดยสารรถบีอาร์ทีจะทำให้มีประชาชนโดยเฉพาะนักเรียนและนักศึกษาหันมาใช้บริการมากขึ้น อีกทั้งสอดคล้องกับแผนการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงตากสิน-บางหว้า ซึ่ง กทม.จะทำทางเดินพิเศษเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีตลาดพลู ไปยังจุดจอดรับรถบีอาร์ทีที่สถานีราชพฤกษ์ ด้วย แม้ว่า กทม.จะลดค่าโดยสารรถบีอาร์ทีแต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ในการดำเนินการ เนื่องจาก กทม.ได้จัดงบไว้เพื่อบริหารการเดินรถไว้ถึง 7 ปี ซึ่งขณะนี้ยังเหลือเวลาอีก 3 ปีกว่า
นายอมร กล่าวอีกว่า รถบีอาร์ที สายสาทร-ราชพฤกษ์ เป็นโครงการนำร่องในการทดลองเดินรถระบบขนส่งมวลชนที่ดี มีความปลอดภัยสูงสุด และอันตรายจากการเดินทางเป็นศูนย์ แต่มีข้อเสียคือระบบเดินรถบีอาร์ทียังไม่สามารถเดินรถแยกจากถนนสายหลักโดยอิสระได้ ทำให้เกิดข้อร้องเรียนว่ารถบีอาร์ทีไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงคือมีจำนวนรถบีอาร์ทีเพียงพอ แต่เนื่องจากต้องเดินรถบนถนนสายหลักร่วมกับรถส่วนบุคคลและรถสาธารณะบนถนน ไม่ได้มีทางเดินรถของตนเองตามหลักการที่วางไว้ ทำให้รถบีอาร์ทีต้องติดการจราจรบนถนนสายหลักด้วย อย่างไรก็ตามกทม.ศึกษาจำนวนการเดินรถ ขนาดของรถ และราคา เพื่อปรับปรุงให้ตรงกับความต้องการของประชาชน พร้อมกันนี้จะพัฒนาระบบการเดินทางรถบีอาร์ทีตามโครงการที่ออกแบบไว้ 7 เส้นทาง และเส้นทางเดินรถที่เสนอไว้อีก 6 เส้นทาง ให้เป็นระบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพต่อไป
นายอมร ยังกล่าวถึงกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. และผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงตนเอง กรณีการขยายเส้นทางสัมปทานใหม่สายสีลม ระยะทาง 2.2 กม.และสายสุขุมวิท ระยะทาง 5.25 กม.รวม 2 สัญญา ว่าไม่ได้รับการอนุญาตหรือได้รับสัมปทานอย่างถูกต้อง นั้น ขณะนี้กทม.ได้ทำหนังสือถึงดีเอสไอขอเลื่อนการเข้าชี้แจงออกไป 1 เดือน เนื่องจากผู้ว่าฯ กทม.และตนเอง เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ อีกทั้งต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการชี้แจง ในส่วนของคดีการเซ็นสัญญาต่อขยายและเพิ่มสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นเวลา 30 ปี นั้น ยืนยันว่าดำเนินการตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ อีกทั้งผ่านกระบวนการคิดและศึกษาโดยนักวิชาการกว่า 200 คน และทีมที่ปรึกษาอีก 3-4 ทีม ซึ่งตนเองไม่มองว่าเป็นประเด็นทางการเมือง แต่หากรัฐบาลมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ต้องถูกก็ถือว่าเป็นสิทธิ