xs
xsm
sm
md
lg

ยื่น “ปู” วันนี้จี้เลิกรีดเงินโปะกองทุนน้ำมัน ชี้มั่วดีเซล 30 บาท/ลิตร ทั้งที่จริงแค่ 22-23 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายเจ้าของพลังงานไทยตบเท้าเข้ายื่นหนังสือถึง “นายกฯ” วันนี้ เบรกขึ้นราคาแอลพีจีครัวเรือน 1 ก.ย. เหตุจัดสรรไม่เป็นธรรมให้ยกเลิกมติ ครม. ปี 2551 ใหม่ พร้อมปรับวิธีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเลิกรีดจากคนใช้น้ำมัน กางตัวเลขดีเซล 30 บาท/ลิตรมั่วให้ผู้ค้าทั้งที่ราคาจริงแค่ 22-23 บาท/ลิตรเท่านั้น

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า วันนี้ (14 ส.ค.) เครือข่ายเจ้าของพลังงานไทย ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาปฏิรูปพลังงานแห่งชาติ ฯลฯ จะเข้ายื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลาประมาณ 10.00 น. โดยมีข้อเรียกร้องในเรื่องเกี่ยวกับพลังงานทั้งหมด 7 ข้อ โดยเฉพาะการขอให้ยุติการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนวันที่ 1 ก.ย. 56 นี้ รวมถึงการให้ยกเลิกเก็บเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ใช้น้ำมันแต่ให้บริหารจัดการกับภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีแทน และเสนอให้ปฏิรูปพลังงานไทยเป็นวาระแห่งชาติ เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อเสนอการให้หยุดขึ้นราคาแอลพีจีครัวเรือน 1 ก.ย.นี้ที่รัฐจะขึ้น 0.50 บาทต่อกิโลกรัมไปสู่ระดับ 24.82 บาทต่อ กก.นั้นเห็นว่าไม่ยุติธรรม เนื่องจากพบว่าการนำเข้าแอลพีจีเกิดจากการใช้ที่เพิ่มขึ้นของภาคปิโตรเคมี และมติ ครม. เมื่อปี 2551 กำหนดให้การจัดสรรแอลพีจีในประเทศให้กับภาคปิโตรเคมีก่อนให้ภาคครัวเรือนและขนส่ง โดยรัฐควรเปลี่ยนมติใหม่เพื่อจัดสรรให้ภาคครัวเรือนและขนส่งเป็นลำดับแรก ส่วนการนำเข้าขอให้เป็นภาระของภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีเพราะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และเมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่ามติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไม่มีอำนาจที่จะนำเอาแอลพีจีไปจัดสรรเป็นวัตถุดิบให้ภาคปิโตรเคมีแต่อย่างใด

ส่วนกรณีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงพบว่าปัจจุบันรัฐกำหนดให้เก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันมาดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันและอุดหนุนแอลพีจีนำเข้า ก็พบว่ากรณีดีเซลขณะนี้รัฐบาลตรึงราคาขายปลีกไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งเมื่อดูราคาดีเซลที่แท้จริงขณะนี้โดยไม่มีภาษีสรรพสามิตควรอยู่ที่ 22-23 บาทต่อลิตรเท่านั้น เท่ากับการนำเงินไปอุดหนุนดีเซลผลประโยชน์ไปตกกับผู้ค้าน้ำมันแทน

ขณะเดียวกัน กรณีการอุดหนุนแอลพีจีนั้นหากมีการกำหนดนโยบายที่เป็นธรรมก็ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากขณะนี้พบว่ารัฐเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ส่วนของแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมสูงกว่า 12 บาทต่อ กก. แต่ปิโตรเคมีเก็บแค่ 1 บาทต่อ กก. ซึ่งหากรัฐเก็บภาคปิโตรเคมีให้เท่ากับอุตสาหกรรมเงินก็จะมีเข้ากองทุนฯ จำนวนมากเพียงพอที่ภาระหนี้กองทุนน้ำมันฯ จะไม่เป็นปัญหาและก็ไม่จำเป็นต้องมาเก็บจากผู้ใช้น้ำมัน

“เราจะเสนอ 7 ข้อ โดยมีหลายเรื่อง และอีกส่วนที่สำคัญคืออยากจะให้มีการตั้งคณะทำงานปฏิรูปพลังงานไทยที่จะดูนโยบายภาพรวม ทั้งการสัมปทานปิโตรเลียมที่ควรจะยึดระบบแบ่งปันผลผลิตเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง การห้ามราชการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องพลังงาน เป็นต้น” นายอิฐบูรณ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น