xs
xsm
sm
md
lg

จำนวนรถเพิ่ม ดันอุบัติเหตุบนทางหลวงพุ่ง 6 เดือนทรัพย์สินราชการเสียหายเกือบ 100 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมทางหลวงเผยสถิติอุบัติเหตุบนถนนหลวงในรอบ 6 เดือนแรกปี 2556 รวมกว่า 5,000 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 800 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ทำให้ทรัพย์สินเสียหายกว่า 260 ล้านบาท โดยเป็นทรัพย์สินของราชการเสียหายเกือบ 100 ล้านบาท ชี้เดือนมกราคมและเมษายนเกิดมากสุด เหตุช่วงเทศกาลหยุดยาวปริมาณรถมาก  ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วเกินกำหนด หลับใน เมาสุรา ย้ำใช้มาตรการตรวจจับความเร็วเต็มที่

นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า รายงานข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุบนถนนทางหลวงทั่วประเทศประจำงวดครึ่งปีแรก 2556 (มกราคม-มิถุนายน 2556) จากรายงานอุบัติเหตุทางระบบ HAIMS (สรุปยอด ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2556) พบว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางหลวงในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงจำนวน 5,434 ราย เพิ่มขึ้นจาก 6 เดือนแรกปี 2555 ประมาณ 0.63%  มีผู้เสียชีวิต 806 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.49%  ได้รับบาดเจ็บ5,140 คน เพิ่มขึ้น 3.65%  (แยกเป็นบาดเจ็บสาหัส 1,223 คน บาดเจ็บเล็กน้อย 3,917 คน) จำนวนรถที่เกิดอุบัติเหตุ 8,128 คัน เพิ่มขึ้น 0.44% โดยอุบัติเหตุดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินทั้งสิ้น 263,108,850 บาท โดยเป็นทรัพย์สินของกรมทางหลวง 95,141,730 บาท โดยเดือนเมษายนเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด รองลงมาคือเดือนมกราคม สาเหตุมาจากผู้ขับขี่ใช้ความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนด การตัดหน้าระยะกระชั้นชิด หลับใน อุปกรณ์รถบกพร่อง และเมาสุรา

โดยหากเปรียบเทียบเดือนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดระหว่างปี 55 และปี 56 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน (งวดครึ่งปีแรก 2555 เกิดขึ้นจำนวน 1,348 ครั้ง และงวดครึ่งปีแรก 2556 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 1,587 ครั้ง) รองลงมาคือเดือนมกราคม (งวดครึ่งปีแรก 2555 จำนวน 1,227 ครั้ง และงวดครึ่งปีแรก 2556 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 1,075 ครั้ง)  เนื่องจากช่วงเดือนดังกล่าวเป็นช่วงเทศกาลหยุดต่อเนื่อง (ปีใหม่-สงกรานต์) มีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก

สำหรับอุบัติเหตุประจำงวดครึ่งปีแรก 2556 ส่วนใหญ่เกิดบริเวณทางตรง 3,381 ครั้ง คิดเป็น 62.22% ของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ทางโค้งปกติ 655 ครั้ง คิดเป็น 12.05% และทางแยกระดับเดียวกัน 490 ครั้ง คิดเป็น 9.02% ซึ่งอุบัติเหตุโดยส่วนใหญ่เกิดในเวลากลางวัน (06.00-18.00 น.) ซึ่งเกิดอุบัติเหตุจำนวน 3,231 ครั้ง หรือ 59.46% ทั้งนี้ เป็นอุบัติเหตุจากรถยนต์นั่งจำนวน 2,343 คัน คิดเป็น 28.62% ของจำนวนรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ รถปิกอัพบรรทุก 4 ล้อ 26.06% (2,134 คัน) และรถจักรยานยนต์  16.88% (1,382 คัน)

หากจำแนกเส้นทางการเกิดอุบัติเหตุเป็นรายภาค พบว่าเส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เส้นทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเกิดอุบัติเหตุ 1,262 ครั้ง คิดเป็น 23.22% ของจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขับขี่ด้วยความเร็วและมีปริมาณการจราจรสูง รองลงมาคือ ภาคเหนือ  20.91% (1,136 ครั้ง) ส่วนใหญ่เกิดในเขตจังหวัดเชียงใหม่ แพร่ ลำปาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15.13% (822 ครั้ง) ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี เป็นต้น ซึ่งอุบัติเหตุที่รุนแรงที่สุดเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในวันพุธที่ 15 มกราคม 2556 บนทางหลวงหมายเลข 101 (คุยประดู่-แยกโตโยต้า) อยู่ในเขตความรับผิดชอบแขวงการทางสุโขทัย อุบัติเหตุเกิดจากรถปิกอัพขับมาด้วยความเร็วสูงและได้ชนประสานงากับรถปิกอัพที่วิ่งสวนทางมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 8 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 4 คน
 
ส่วนการเกิดอุบัติเหตุโดยการจำแนกตามประเภททางหลวง (หมายเลขทางหลวง) พบว่าส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงที่มีหมายเลขทางหลวง 3 หลัก ซึ่งเกิดอุบัติเหตุจำนวน 1,720 ราย คิดเป็น 31.65% (เช่น ทางหลวงหมายเลข 338 อรุณอัมรินทร์-พุทธมณฑลสาย 4) รองลงมาคือ ทางหลวงสายหลักที่มีหมายเลขทางหลวง 1 หลัก  27.46% (1,492 ราย) (เช่น ทางหลวงหมายเลข 2 โนนสูง-ดอนชมพู) ทางหลวงสายหลักที่มีหมายเลขทางหลวง 4 หลัก  22.41% (1,218 ราย) (เช่น ทางหลวงหมายเลข 3153 จันทบุรี-ท่าใหม่) และทางหลวงสายหลักที่มีหมายเลขทางหลวง 2 หลัก  18.48% (1,004 ราย) (เช่น ทางหลวงหมายเลข 41 ละแม-ทุ่งหลวง) 

นายชัชวาลย์กล่าวว่า จากสถิติข้อมูลอุบัติเหตุบนทางหลวงพบว่า การขับขี่รถด้วยความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนด และความประมาทเป็นสาเหตุหลัก (อันดับ 1) ที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน หรือประมาณ 67.50% ทั้งยังเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุในทุกเดือน ทุกเทศกาล และช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่อง ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตรวจจับความเร็วยานพาหนะที่วิ่งบนทางหลวงของรถทุกประเภทจึงเป็นมาตรการแก้ไขเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ และถือเป็นมาตรการสำคัญในการลดและป้องกันอุบัติเหตุของผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ใช้รถใช้ถนนทุกท่านโปรดขับขี่รถด้วยความระมัดระวัง เคารพกฎจราจร/กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของท่าน ผู้ร่วมทาง และผู้อาศัยบริเวณสองข้างทางหลวง รวมทั้งขอความร่วมมือในการบอกต่อ หรือให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชนเกี่ยวกับกฎหมายจราจรและวินัยการใช้รถใช้ถนนเพื่อเป็นการป้องกันในระยะยาวต่อไป

สำหรับประชาชนที่ต้องการสอบถามสภาพเส้นทางการจราจรบนถนนทางหลวง ต้องการความช่วยเหลือ หรือพบเห็นอุบัติเหตุบนทางหลวง สามารถโทรศัพท์ไปได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง ตลอด 24 ชั่วโมง​1586 ​ตำรวจทางหลวง ตลอด 24 ชั่วโมง​1193 สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรมทางหลวง (ในวันและเวลาราชการ)​0-2354-6530, 0-2354-6668-7 ​ต่อ 2014, 2031  ศูนย์บริการข้อมูลทางหลวงพิเศษ ​0-2533-6111 หน่วยกู้ภัย มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี (สายใหม่)​0-3857-7853 หน่วยกู้ภัยวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก (บางปะอิน-บางพลี)​0-2372-0191
 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น