กรมทางหลวงเผยรอบ 3 เดือนแรกปี 56 ถูกขโมยอุปกรณ์ริมทางหลวงสูญกว่า 2.5 ล้านบาท ระบุ หม้อแปลงไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าถูกขโมยมากที่สุดเหตุมีทองแดงเป็นส่วนประกอบ ซึ่งขายได้ราคา ชี้แม้สถิติการโจรกรรมจะลดลงแต่หากสภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น เชื่อการขโมยของหลวงจะไม่หมดไปแน่ วอนประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาแจ้งเหตุ โดยเฉพาะไฟฟ้าส่องสว่าง หวั่นกระทบต่อความปลอดภัยในการขับขี่
นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผยถึงรายงานข้อมูลการโจรกรรมอุปกรณ์งานทางของกรมทางหลวง ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2556 (มกราคม - มีนาคม) พบว่า ทรัพย์สินของกรมทางหลวงที่ถูกโจรกรรม มีมูลค่ารวม 2,597,107.00 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2555 พบว่าการโจรกรรมลดลงประมาณ 82 %โดยเฉพาะหม้อแปลงไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ราวกันอันตราย ซึ่งเป็นผลจากการประชาสัมพันธ์และความร่วมมือของประชาชนที่ร่วมกันสอดส่องดูแลทรัพย์สินของทางราชการ โดยสายไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟฟ้ายังถูกโจรกรรมสูงสุด 2 อันดับแรก เนื่องจากมีทองแดงซึ่งมีราคาสูงเป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้การโจรกรรมของหลวงนั้น ถือเป็นความผิดอาญาและมีโทษที่ทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับ พื้นที่ที่มีปัญหาการโจรกรรมอุปกรณ์งานทางที่มีมูลค่าความเสียหาย 3 ลำดับแรก สำนักทางหลวงที่ 11 (กรุงเทพ) มูลค่าความเสียหาย 785,379 บาท คิดเป็น 30.24% คือ สำนักทางหลวงที่ 9 (ลพบุรี) มูลค่าความเสียหาย 384,120 บาท คิดเป็น 14.79% และสำนักทางหลวงที่ 5 (ขอนแก่น) มูลค่าความเสียหาย 270,000 บาท คิดเป็น 10.40 % และพบว่าแขวงการทาง/สำนักงานบำรุงทางที่ได้รับผลกระทบจากการโจรกรรมและมีมูลค่าความเสียหายสูง ได้แก่ สำนักบำรุงทางธนบุรี มูลค่าความเสียหาย 314,120 บาท คิดเป็น 12.09% รองลงมาคือ แขวงการทางปทุมธานี มูลค่าความเสียหาย 237,460 บาท คิดเป็น 9.14% และแขวงการทางลพบุรีที่ 2 มูลค่าความเสียหาย 205,600 บาท คิดเป็น 7.92 %
โดยอุปกรณ์งานทางที่ถูกโจรกรรมที่มีมูลค่าความเสียหาย 2 ลำดับแรก พบว่าเป็นการโจรกรรมสายไฟฟ้า มูลค่ารวม 1,066,919 บาท คิดเป็น 41.08% รองลงมาคือ หม้อแปลงไฟฟ้า มูลค่ารวม 1,011,808 บาท คิดเป็น 38.96% และรั้วลูกกรง มูลค่ารวม 189,625 บาท คิดเป็น 7.30%
“จากผลสำรวจพบว่า การโจรกรรมสายไฟฟ้า และหม้อแปลงไฟฟ้า ยังมีอัตราการโจรกรรมอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นเพราะปัญหาค่าครองชีพในปัจจุบัน อีกทั้ง ทองแดงมีราคาสูงและปรับตัวขึ้นตลอดเวลา จึงเป็นเหตุจูงใจในการโจรกรรมดังกล่าว แม้จะทราบว่า การโจรกรรมของหลวงนั้น ถือเป็นความผิดอาญาที่ทั้งจำทั้งปรับก็ตาม”นายชัชวาลย์กล่าว
สำหรับลักษณะการกระจายของปัญหาการโจรกรรมอุปกรณ์งานทาง พบว่าระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2556 มีการโจรกรรมสูงสุดในเดือนมกราคม และเกิดขึ้นบนทางหลวงที่มีหมายเลขทางหลวง 1 หลัก (เช่น ทางหลวงหมายเลข 1 ตอน สนามกีฬาธูปะเตมีย์ - ต่างระดับคลองหลวง) รองลงมาคือ ทางหลวงที่มีหมายเลขทางหลวง 2 หลัก (เช่น ทางหลวงหมายเลข 21 ตอน แยกมะนาวหวาน - ม่วงค่อม พื้นที่จังหวัดลพบุรี) ทางหลวงที่มีหมายเลขทางหลวง 3 หลัก (เช่น ทางหลวงหมายเลข 362 ตอน ถนนวงแหวนรอบเมืองสระบุรี พื้นที่จังหวัดสระบุรี) และทางหลวงที่มีหมายเลขทางหลวง 4 หลัก (เช่น ทางหลวงหมายเลข 3241 ตอน อ่างเก็บน้ำหนองค้อ - มาบเอียง พื้นที่จังหวัดลพบุรี)
จากสถิติปัญหาโจรกรรมทรัพย์สินอุปกรณ์งานทางของกรมทางหลวง แม้จะมีอัตราการโจรกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นไม่มาก และมีแนวโน้มลดลงหากเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่สภาพเศรษฐกิจที่วิกฤติในปัจจุบันที่คาดว่าจะมีแนวโน้มวิกฤติอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นได้อีก ส่งผลให้ต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดซื้อ จัดหา มาติดตั้งทดแทน อีกทั้ง ยังมีผลให้เกิดผลกระทบต่อความสะดวกปลอดภัยและเป็นเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทางได้ จึงขอความร่วมมือผู้ใช้ทางและประชาชนผู้อาศัยอยู่บริเวณสองข้างทางหลวงช่วยกันสอดส่องดูแล หากพบเห็นผู้กระทำผิดหรือสงสัยว่าจะกระทำผิด สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรมทางหลวง 0 2354 6530 สายด่วนกรมทางหลวง 1586 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง สายด่วนกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 0 2533 6111 สำนัก/สำนักงานทางหลวง แขวงการทาง หรือหมวดการทางในพื้นที่ หรือแจ้งได้ที่ตำรวจทางหลวง 1193 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง