ทช.เผยถนนถูกน้ำท่วมแล้วใน 8 จังหวัดรวม 21 สายทาง เร่งแก้ไขจนเปิดสัญจรได้ปกติแล้ว 18 สายทาง ด้านกรมทางหลวงสั่งสำนักทางหลวงทั่วประะทศเตรียมพร้อมรับฝนชุก พร้อม 4 มาตรการ อำนวยความปลอดภัยผู้ใช้ทาง เตือนตรวจสภาพรถก่อนใช้ ใช้ความเร็วต่ำเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ถนน ทช.ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัยระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2556 รวม 8 จังหวัด รวม 21 สายทาง ประกอบด้วย ตาก 2 สายทาง, แม่ฮ่องสอน 3 สายทาง,นครราชสีมา 2 สายทาง, บึงกาฬ 1 สายทาง, อำนาจเจริญ 1 สายทาง, ตราด 5 สายทาง, พังงา 2 สายทาง, ระนอง 5 สายทาง ขณะนี้สามารถสัญจรผ่านได้ 18 สายทาง
ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 3 สายทาง ได้แก่ 1. ทางหลวงชนบทสาย ตก.3002 แยกทางหลวงหมายเลข 105-บ้านวังแก้ว อำเภอแม่สอด, แม่ระมาด จังหวัดตาก 2. ทางหลวงชนบทสาย ตก.3006 แยกทางหลวงหมายเลข 105-บ้านวังผา อำเภอแม่สอด, แม่ระมาด จังหวัดตาก 3. ทางหลวงชนบทสาย อจ.4023 แยกทางหลวงหมายเลข 2134-แยก ทล.2049 อำเภอพนา, ม่วงสามสิบ จังหวัดอำนาจเจริญ
ด้านนายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมทางหลวงได้ติดตามและเฝ้าระวังการเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับการเกิดพายุไต้ฝุ่นดีเปรสชัน และร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่เป็นเหตุทำให้เกิดอุทกภัย จนเป็นเหตุให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉบับพลัน ดินโคลนถล่ม คันทางสไลด์ อุปกรณ์งานทางชำรุดเสียหาย หรือเกิดวาตภัย ทำให้ต้นไม้ล้มกีดขวางการจราจร เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานของกรมทางหลวง ได้แก่ สำนักทางหลวง สำนักงานทางหลวง แขวงการทาง สำนักงานบำรุงทาง หมวดการทาง ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ให้เตรียมความพร้อมในการอำนวยความปลอดภัยแก่ประชาชน และผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงฤดูฝน โดยมี 4 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 การติดตามและเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ติดตามและเฝ้าระวังการเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติอย่างใกล้ชิด ทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ เกี่ยวกับการเกิดพายุไต้ฝุ่น ดีเปรสชัน และร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่เป็นเหตุทำให้เกิดวาตภัย ฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม ในพื้นที่เสี่ยงภัยตลอดเวลา
มาตรการที่ 2 ก่อนเกิดภัยดำเนินการขุดลอกคูคลองสองข้างทาง ทำความสะอาดอาคารระบายน้ำ กำจัดเศษขยะและวัชพืชให้พ้นการกีดขวางทางระบายน้ำ จัดทำแผนขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการและซักซ้อมแผนป้องกันภัยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกและลดพฤติกรรมเกี่ยวกับการทำลายธรรมชาติ ติดตามข้อมูลข่าวสารทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์
มาตรการที่ 3 ขณะเกิดภัย หน่วยงานในพื้นที่เข้าดำเนินการแก้ไขให้การจราจรผ่านได้ในเบื้องต้นทันที ติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุ ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดและบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามและรายงานข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้บริหารรับทราบเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
มาตรการที่ 4 หลังเกิดภัย สำรวจ ตรวจสอบ รายงานความเสียหาย พร้อมข้อเสนอแนะ วิธีการป้องกันและแก้ไขเสนอผู้บริหารในการวินิจฉัยสั่งการจัดทำแผนรายประมาณการ การซ่อมบูรณะฟื้นฟูสู่สภาพอย่างยั่งยืนโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าปกติ เนื่องจากถนนเปียกลื่นกว่าปกติ และทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี ดังนั้น ขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกท่านเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ ไม่ประมาท และมีสติมากขึ้น ก่อนใช้รถก็ต้องตรวจสภาพรถมากกว่าปกติ เช่น ตรวจสอบสภาพยาง ใบปัดน้ำฝน ระบบสัญญาณไฟให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี และหมั่นเติมน้ำในกระปุกฉีดน้ำฝนอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญ ต้องไม่ขับรถด้วยความเร็วสูง ไม่ขับรถชิดคันหน้ามากเกินไป เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่นทำให้ต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้น ผู้ขับขี่ควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้ามากกว่าการขับขี่ในช่วงปกติ 10-15 เมตร เพื่อให้สามารถหยุดรถได้ทัน นอกจากนี้สำหรับประชาชนที่ต้องการสอบถามสภาพเส้นทางการจราจรบนถนนทางหลวงในเขตพื้นที่ประสบอุทกภัย ต้องการความช่วยเหลือ หรือพบเห็นอุบัติเหตุบนทางหลวง สามารถโทรศัพท์ไปได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586 ทุกวัน ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง เว็ปไซด์กรมทางหลวง : www.doh.go.th