กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยว่า รัสเซีย, ยูเครน และอาเซอร์ไบจัน อยู่ในกลุ่ม 8 ประเทศที่เพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำในเดือนมิ.ย. ซึ่งสะท้อนถึงความสนใจอย่างมากในส่วนของประเทศ เกิดใหม่ในการถือครองทองในทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี รายงานสถิติทางการเงินระหว่างประเทศประจำเดือนของไอเอ็มเอฟระบุว่า ตุรกี, เยอรมนี และประเทศอื่นๆอีก 7 ประเทศ ได้ปรับลดสัดส่วนการถือครองทองในเดือนมิ.ย.
นักลงทุนกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของธนาคารกลางต่อการถือครองทอง หลังจากที่ราคาทองดิ่งลงแตะ 1,180 ดอลลาร์/ออนซ์ในช่วงปลายเดือนมิ.ย. จากระดับ 1,700 ดอลลาร์/ออนซ์ในช่วงต้นปีนี้ ขณะที่ราคาทองสปอตอยู่ที่ 1,326 ดอลลาร์/ออนซ์ ในวันนี้
ประเทศในเอเชียกลางยังคงถือทองเพิ่มขึ้น โดยคาซัคสถานเพิ่มการ ถือครองทอง 1.4 ตัน สู่ระดับ 130.9 ตัน และคีร์กิสถานถือทอง เพิ่มขึ้นไม่ถึง 0.1 ตัน สู่ระดับ 3.3 ตัน
กรีซ, เบลารุส และบัลแกเรียได้รายงานการเพิ่มขึ้นของการถือทอง ในทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเช่นกัน
ส่วนประเทศอื่นๆที่ลดสัดส่วนการถือครองทองได้แก่ ซูริเนม, กัวเตมาลา,เม็กซิโก, ซิมบับเว, คอสตาริกา, สาธารณรัฐเชค และเดนมาร์ค ความวิตกที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดโครงการซื้อพันธบัตร ในเร็วๆนี้ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นได้บั่นทอนความน่าสนใจในการลงทุนของทองลงอย่างมาก
ข้อมูลระบุว่า ทองคำในทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของรัสเซียเพิ่มขึ้น 0.3 ตัน สู่ 996.4 ตันในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 9 ติตต่อกัน ขณะที่รัสเซียมีทองคำสำรองมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก ไม่รวม ของไอเอ็มเอฟ
ยูเครนมีทองคำสำรองเพิ่มขึ้น 2.5 ตัน สู่ระดับ 38.9 ตัน และอาเซอร์ไบจันมีทองเพิ่มขึ้น 2 ตัน สู่ระดับ 8 ตัน
ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองสุทธิในปี 2010 หลังจากที่ขายสุทธิในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่่านมา ขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ได้กระตุ้นความสนใจของทางการต่อการถือครองทอง
อย่างไรก็ดี มีข่าวในเดือนเม.ย.ว่า ไซปรัสอาจจำเป็นต้องขายทองคำบาง ส่วนเพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ และคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งทำให้เกิดความวิตกว่าจะเกิดแรงขายทองของธนาคารกลางระลอกใหม่
ตุรกี ซึ่งมีทองคำสำรองมากที่สุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลก มีทองคำสำรองลดลง 3.8 ตัน สู่ระดับ 441.5 ตันในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือน แรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2012 สัดส่วนการถือครองทองของตุรกีเพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนก่อนถึงเดือนมิ.ย. ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตัดสินใจของธนาคารกลางตุรกีที่อนุญาตให้ธนาคาร พาณิชย์สามารถถือทองคำในทุนสำรองเป็นบางส่วนได้
เยอรมนี ซึ่งถือครองทองคำมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก มีทองคำลดลง 0.8 ตัน สู่ระดับ 3,390.6 ตันในเดือนมิ.ย. นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ราคาทองดิ่งลง 21% แล้ว และมีความเสี่ยงว่าจะร่วงลง เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่พุ่งขึ้น 12 ปีติดต่อกัน-
การร่วงลงอย่างหนักของราคาทองเมื่อวันพุธที่่ผ่านมาส่งสัญญาณลบต่อนักวิเคราะห์ทางเทคนิคจำนวนมาก ซึ่งระบุว่า ราคาทองอาจร่วงลงต่อไปสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี
ทั้งนี้ แม้ราคาทองปรับตัวขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่นักวิเคราะห์ ที่มีความเห็นเชิงลบได้บ่งชี้ถึงการร่วงลง 2.65% ของราคาทองเมื่อวันพุธที่ผ่านมาจากระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน
พวกเขากล่าวว่า แรงกระตุ้นเพื่อหนุนราคาทองขึ้นเหนือ 1,347.69 ดอลลาร์/ออนซ์ได้จางหายไปแล้ว แม้นักวิเคราะห์อย่างน้อยที่สุด 1 รายคาดหวังว่า ราคาทองอาจดีดตัวกลับขึ้นสู่ระดับสูงของช่วงต้นปีนี้ี่ที่ราว 1,700 ดอลลาร์/ออนซ์
ราคาทองปรับตัวขึ้นมากกว่า 9% ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่เมื่อวันศุกร์ ราคาทองสปอตร่วงลง 0.2% สู่ 1,330.30 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยเทรดเดอร์กล่าวว่ามีแรงขายทำกำไรหลังราคาแตะระดับสูงสุดของวันที่ 1,340 ดอลลาร์
แต่การที่ราคาทองไม่สามารถแตะระดับ 1,350 ของเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันที่ราคาทองร่วงลงเกือบ 6% นั้น ทำให้นักวิเคราะห์ คาดการณ์ในเชิงลบ โดยได้ปรับลดเป้าหมายราคาทองลงสู่ 1,295, 1,265 ดอลลาร์ และอาจสู่ระดับต่ำสุดที่เคยเห็นในช่วง 3 ปีที่่ผ่านมา
นักวิเคราะห์ของบาร์เคลยส์ระบุในรายงานวิจัยทางเทคนิคว่า "หลังการปรับตัวขึ้นของราคาทองในระยะใกล้สู่ 1,350 ดอลลาร์ ราคาทองจะปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 1,260 ดอลลาร์"
นักวิเคราะห์ของบาร์เคลยส์ระบุว่า ราคาทองอยู่ในภาวะที่มีแรงซื้อมากเกินไปที่ระดับปัจจุบัน และส่งสัญญาณแนวโน้มที่ซบเซา
นาง Stephanie Aymes นักวิเคราะห์ทางเทคนิคของโซซิเอเต้ เจเนอราล ระบุว่า "ราคาทองแตะระดับเพดานที่ 1,347 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่มีการกลับตัวที่สำคัญ"
นาง Aymes ระบุถึงการปรับตัวขึ้นของราคาทองจากระดับต่ำสุดของวันที่ 28 มิ.ย.ที่ 1,180 ดอลลาร์/ออนซ์ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยนาง Aymes คาดว่าราคาทองจะปรับฐานสู่ช่วงการซื้อขายระหว่าง 1,303-1,295 และ 1,275 ดอลลาร์ต่อออนซ์
นักวิเคราะห์คาดว่า ราคาทองอาจร่วงลงในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้าสู่ 1,100-1,150 ดอลลาร์ซึ่งเป็นระดับในช่วงเดือนเม.ย. 2010
อย่างไรก็ดี นายชาร์ลส์ เบเคอร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนของไทเดิล แอสเซท แมเนจเมนต์ในกรีนิช คาดว่า ราคาทองจะปรับตัวสู่ระดับเมื่อกลางเดือนพ.ค.ที่ 1,400 ดอลลาร์ซึ่งเป็นเป้าหมายต่อไปที่เป็นไปได้มากที่สุด
เขาคาดว่า "ราคาทองอาจกลับสู่ระดับ 1,400 ดอลลาร์อย่างน้อยที่สุดก่อนที่จะร่วงลงอีกครั้ง"
คณะกรรมการการค้าสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ของสหรัฐ (CFTC) รายงานว่า ผู้จัดการกองทุนและกองทุนเฮดจ์ฟันด์ได้เพิ่มการถือครองสถานะซื้อในสัญญาล่วงหน้าทองและออปชั่นทองขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นเวลานานยิ่งขึ้น
CFTC ระบุในรายงานภาระผูกพันของเทรดเดอร์ว่า นักเก็งกำไร เพิ่มการถือครองสถานะซื้อในโลหะเงินขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน และปรับลดการถือครองสถานะขายในทองแดงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน
นักเก็งกำไรเพิ่มการถือครองสถานะซื้อสุทธิในทองขึ้น 14,532 สัญญา สู่ 70,067 สัญญา และเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน
ราคาทองพุ่งขึ้น ในขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการประชุมเฟดในวันอังคาร-พุธนี้ ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง
ในช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว ราคาทองสามารถปรับตัวขึ้นเหนือระดับสำคัญทางเทคนิคที่ 1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ และปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นให้นักเก็งกำไรรีบเร่งเข้าซื้อชดเชยทอง
นักเก็งกำไรปรับลดการถือครองสถานะขายในทองลง 8,573 สัญญา สู่ 52,429 สัญญา โดยลดลงจากสถิติสูงสุดที่ 80,147 สัญญาที่ทำไว้เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
นักเก็งกำไรปรับเพิ่มการถือครองสถานะซื้อสุทธิในโลหะเงินขึ้น 1,491 สัญญา สู่ 6,321 สัญญา และปรับลดการถือครองสถานะขายสุทธิในทองแดงลง 2,700 สัญญา สู่ 12,974 สัญญา
ในบรรดาโลหะกลุ่มพลาตินั่มนั้น นักเก็งกำไรปรับเพิ่มการถือครองสถานะซื้อสุทธิในพลาตินั่มขึ้น 2,662 สัญญา สู่ 21,171 สัญญา และปรับเพิ่ม การถือครองสถานะซื้อสุทธิในพัลลาเดียมขึ้น 774 สัญญา สู่ 22,605 สัญญา
(ข่าวจาก สำนักข่าว รอยเตอร์)
T.Thammasak