เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-นักวิเคราะห์คาด บรรดาธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณทองคำสำรองในความครอบครองต่อไป แม้ว่าล่าสุดรัฐบาลตุรกีเพิ่งขายทองคำทิ้งกว่า 3.8 ตัน
รายงานข่าวซึ่งอ้าง โคลิน ซีซินสกี นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสแห่ง “ซีเอ็มซี มาร์เก็ตส์” ในแคนาดาระบุว่า ภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก จะยังคงส่งผลให้บรรดาธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ยังมีแนวโน้มที่จะกว้านซื้อทองคำมาถือครองเพิ่มเติมอยู่ต่อไป เนื่องจากทองคำยังคงเป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญยิ่ง ในทุนสำรองระหว่างประเทศ แม้ล่าสุดจะมีธนาคารกลางของบางประเทศตัดสินใจขายทิ้งทองคำสำรองในความครอบครองของตน
ขณะที่เจฟฟ์ นิโคลส์ กรรมการผู้จัดการใหญ่แห่งบริษัทที่ปรึกษา “อเมริกัน พรีเชียส เมทัลส์ แอดไวเซอร์” และนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่ง “รอสแลนด์ แคปิตอล” ชี้ว่า การตัดสินใจขายทองคำของตุรกีล่าสุดกำลังถูกตีความอย่างคาดเคลื่อน เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว การขายทองคำของตุรกีอาจเป็นเพียงการปรับสมดุลในเชิงโครงสร้างตามปกติเท่านั้น เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางการตุรกีอนุญาตให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ในประเทศใช้ทองคำเป็นทุนสำรองอย่างเป็นทางการได้ และทองคำสำรองในส่วนนี้ ถูกนำรวมเป็นส่วนเดียวกับทองคำในความครอบครองของธนาคารกลาง
นิโคลส์ระบุว่า การขายทองคำของตุรกีรอบล่าสุด แท้จริงแล้ว อาจเป็นการขายในส่วนของธนาคารพาณิชย์ตุรกีเพื่อหากำไร มิใช่การขายทองคำทิ้งในส่วนของแบงก์ชาติ
“ผมไม่เชื่อว่า รัฐบาลตุรกีจะต้องการกำจัดทองคำสำรองในครอบครองของตนออกในอนาคตอันใกล้นี้” นิโคลส์กล่าวเสริม พร้อมอ้างว่า ธนาคารกลางตุรกีมีแนวโน้มจะกว้านซื้อทองคำมาสะสมเพิ่มเติมเสียด้วยซ้ำ รวมถึง รัสเซียกับจีน
ความเห็นของซีซินสกีและนิโคลส์มีขึ้น หลังจากมีการยืนยันของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ว่าตุรกีขายทองคำสำรองในความครอบครองของตนออกไปกว่า 3.8 ตัน หรือเกือบ 4,000 กิโลกรัมในเดือนที่ผ่านมา
โดยตุรกีถือเป็นประเทศที่มีการขายทิ้งทองคำมากที่สุดในบรรดาประเทศที่มีการขายทองคำออกในช่วงเดียวกันคือ เยอรมนี สุรินัม กัวเตมาลา คอสตาริกา ซิมบับเว เม็กซิโก เดนมาร์ก และสาธารณรัฐเช็ก สวนทางกับหลายประเทศเช่นยูเครน อาเซอร์ไบจัน คาซัคสถาน คีร์กิซสถาน บัลแกเรีย เบลารุส และกรีซ ที่พบการซื้อทองคำเพิ่มในช่วงเดียวกัน
ข้อมูลอย่างเป็นทางการของไอเอ็มเอฟระบุว่า การขายทองคำออกกว่า 3.8 ตันของตุรกี ส่งผลให้ปริมาณทองคำสำรองในครอบครองของตุรกีลดลงเหลือ 441.5 ตันซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบหลายปี
ด้านเปาโล ลอสตริตโต ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะมีค่าและเหมืองแร่แห่งเนชันแนล แบงก์ ไฟแนนเชียล ออกมาให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า จริงๆแล้วดูเหมือน บรรดาธนาคารกลางของหลายประเทศเพิ่งจะเริ่มกลับเข้าสู่วงจรแห่งการซื้อทองคำด้วยซ้ำ มิใช่การเทขายออก
ลอสตริตโตยังแสดงความเชื่อมั่นว่า แนวโน้มการถือครองทองคำของแบงก์ชาติประเทศต่างๆน่าจะดำเนินต่อไปอีกนานพอสมควร