เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-รัสเซีย และคาซัคสถานยังคงเดินหน้ากว้านซื้อทองคำเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มปริมาณทองคำสำรองในครอบครองของตนเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลกยังคงไม่หลุดพ้นจากภาวะตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี
รายงานข่าวซึ่งอ้างข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ระบุว่า รัสเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีทองคำสำรองในความครอบครองสูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ทำการกว้านซื้อทองคำเพิ่มขึ้นอีก 6.2 ตันในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณทองคำในความครอบครองของทางการแดนหมีขาวล่าสุดได้เพิ่มเป็นกว่า 996.2 ตันแล้ว
การกว้านซื้อทองคำรอบล่าสุดของธนาคารกลางรัสเซีย ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้สัดส่วนการถือครองทองคำสำรองของรัสเซียมีการขยายตัวแล้ว 4 เปอร์เซ็นต์ หลังจากการถือครองทองคำสำรองของรัสเซียขยายตัวถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2012
ขณะที่คาซัคสถาน อดีตดินแดนส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตที่ตั้งอยู่ในเขตเอเชียกลาง ทำการกว้านซื้อทองคำในเดือนพฤษภาคมอีก 4 ตัน ทำให้ปริมาณทองคำสำรองในความครอบครองของคาซัคสถาน ได้เพิ่มเป็นกว่า 129.5 ตัน นับเป็นการขยายตัว 12 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ หลังจากในปีที่แล้ว คาซัคสถานเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำของตัวเองสูงถึง 41 เปอร์เซ็นต์
ไม่เพียงแต่รัสเซียและคาซัคสถานที่ยังคงเดินหน้าซื้อทองคำมาถือครองเพิ่มเติมเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน แต่ยังมีรายงานว่า ตุรกีเป็นอีกชาติหนึ่งที่ยังคงเดินหน้ากว้านซื้อทองคำมาเก็บไว้เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันแล้ว โดยในเดือนพฤษภาคม ตุรกีซื้อทองคำเพิ่มอีก 18.2 ตัน ทำให้ปริมาณทองคำทั้งหมดที่รัฐบาลอังการาถือครองไว้เพิ่มเป็น 445.3 ตัน
ขณะเดียวกัน ข้อมูลของไอเอ็มเอฟยังเปิดเผยว่าในเดือนพฤษภาคม ทางการของอาเซอร์ไบจันและสาธารณรัฐคีร์กิซสถานได้เพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำเช่นกัน ขณะที่ดินแดนซึ่งมั่งคั่งไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างบรูไน ดารุสซาลาม และดินแดนในเอเชียใต้ซึ่งปราศจากทางออกสู่ทะเลอย่างเนปาลได้กว้านซื้อทองคำเพิ่มเติมตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของหลายประเทศในการเพิ่มปริมาณทองคำสำรองของตัวเอง มีขึ้นหลังจากที่ราคาทองคำในตลาดโลกยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงถึง 7.6 เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายน และลดลงอีก 6 เปอร์เซ็นต์ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่นับตั้งแต่ต้นปี 2013 ราคาทองคำปรับลดลงไปแล้วถึง 24 เปอร์เซ็นต์หรือเกือบ 1 ใน 4 จากระดับราคาในปีที่แล้ว
นอกจากนั้น ราคาทองคำแท่งที่ตลาดสิงคโปร์ยังคงดิ่งลงในระดับที่เลวร้ายที่สุดนับแต่ปี ค.ศ.1981 เป็นต้นมา หลังทะยานพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 12 ปี