เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ข้อมูลล่าสุดยืนยัน ธนาคารกลางรัสเซียและคาซัคสถานกว้านซื้อทองคำในตลาดโลกมาถือครองเพิ่มเติมในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นับเป็นการกว้านซื้อเพื่อเพิ่มปริมาณทองคำสำรองของทั้ง 2 ประเทศเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ขณะที่ราคาทองคำทำสถิติร่วงลงแรงที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ
รายงานข่าวซึ่งอ้างข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า รัสเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีทองคำสำรองในความครอบครองมากที่สุดเป็นลำดับที่ 7 ของโลก ได้กว้านซื้อทองคำมากักตุนไว้เพิ่มเติมอีก 8.4 ตัน ทำให้ปริมาณทองคำสำรองที่อยู่ในความครอบครองของทางการแดนหมีขาวขณะนี้มีทั้งสิ้นถึง 990 ตัน
ข้อมูลของไอเอ็มเอฟล่าสุดยืนยันว่า การกว้านซื้อทองคำมาถือครองไว้ของแบงก์ชาติรัสเซียได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ หลังจากที่รัสเซียขยายสัดส่วนการถือครองทองคำไปแล้วถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2012 ที่ผ่านมา
ในอีกด้านหนึ่ง รายงานของไอเอ็มเอฟพบว่า คาซัคสถาน ดินแดนซึ่งมั่งคั่งไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากเอเชียกลาง และเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ก็ได้ทำการกว้านซื้อทองคำมาถือครองเพิ่มเติมเช่นกันในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ไอเอ็มเอฟระบุว่า ในเดือนที่แล้วธนาคารกลางแห่งคาซัคสถานซื้อทองคำกว่า 2.6 ตันเข้ามาถือครองเพิ่มเติม ส่งผลให้ปริมาณทองคำสำรองทั้งหมดที่อยู่ในความครอบครองของคาซัคสถานได้เพิ่มเป็นกว่า 125.5 ตัน โดยเฉพาะในปี 2013 นี้จำนวนทองคำที่ทางการคาซัคสถานกว้านซื้อมาสะสมไว้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สัดส่วนการถือครองทองคำของคาซัคสถานในปีที่แล้วมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 41 เปอร์เซ็นต์
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทั้งรัสเซียและคาซัคสถานมีขึ้นหลังจากที่ราคาทองคำในตลาดโลกทำสถิติร่วงลงมาอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปีนับตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา ส่วนราคาของ “ทองคำแท่ง” ได้ปรับร่วงไปแล้วกว่า 17 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ หลังพุ่งทะยานต่อเนื่องกันมานานกว่า 12 ปี
ขณะเดียวกันยังเกิดปรากฏการณ์ที่นักลงทุนจำนวนไม่น้อยจากทั่วโลกต่างพร้อมใจ “สูญเสียความศรัทธา” (losing faith) ต่อการลงทุนในทองคำไปจนหมดสิ้น ท่ามกลางกระแสข่าวที่แพร่สะพัดถึงความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว
ด้านอเล็กซานดรา ไนท์ นักเศรษฐศาสตร์แห่งเนชันแนล ออสเตรเลีย แบงก์ ลิมิเต็ด ในนครเมลเบิร์น ระบุว่า ธนาคารกลางของหลายประเทศกำลังฉกฉวย “โอกาสทอง” จากความตกต่ำของราคาทองคำขณะนี้ในการเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำของตัวเอง
ไม่เพียงแต่รัสเซีย และคาซัคสถานเท่านั้นที่มีข้อมูลว่าทำการกว้านซื้อทองคำไปถือครองเพิ่มเติมในเดือนเมษายน เนื่องจากข้อมูลของไอเอ็มเอฟพบว่าธนาคารกลางของตุรกี เบลารุส อาเซอร์ไบจาน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างกรีซต่างทุ่มซื้อทองคำไปกักตุนเพิ่มเติมเช่นเดียวกันในเดือนที่ผ่านมา