ASTVผู้จัดการรายวัน - เปิดแผนลงทุนระยะสั้น-ระยะกลาง “นมตรามะลิ” หลังฟื้นตัวจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ลงทุนเพิ่มไปแล้วสำหรับการปรับโรงงานและซื้อเครื่องจักรใหม่เพิ่มการผลิต 3 เท่าตัวเป็น 9 แสนลังต่อปี พร้อมเทงบฯ การตลาด 500 ล้านบาทดำเนินงานในทุกรูปแบบ เตรียมรุกตลาดร้านกาแฟรถเข็นด้วยนมข้นหวานตรา “เบิร์ดวิงส์” และ “ออร์คิด” หวังครองเจ้าตลาดพร้อมรายได้ 5 พันล้านบาทในปี 57 ก่อนผุดโรงงานใหม่ภายใน 5-10 ปี
นายเจษฎา หักพาล ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 4 แบรนด์ คือ นมข้นหวานและนมยูเอชทีตรา “มะลิ” นมข้มหวานตรา “เบิร์ดวิงส์” นมข้นหวานและเนยตรา “ออร์คิด” และมาร์การีนตรา “พิมส์” โดยบริษัทกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ตรา “มะลิ” เป็นสินค้าระดับพรีเมียม และเป็นรายได้หลักของบริษัทในสัดส่วนประมาณ 60% จากรายได้ทั้งหมด
บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดนมข้มหวาน 60% จากมูลค่าตลาดประมาณ 1.5 พันล้านบาท และมีส่วนแบ่งจากตลาดรวมผลิตภัณฑ์นมและครีมเทียม 50% จากมูลค่าตลาดรวมประมาณ 5 พันล้านบาท โดยในปี 2555 สามารถทำยอดขายได้ทั้งสิ้นประมาณ 3 พันล้านบาท แบ่งเป็นการจำหน่ายภายในประเทศ 70% และส่งออก 30% โดยคาดว่าในปี 2556 จะทำยอดขายเพิ่มเป็น 5 พันล้านบาท และเพิ่มสัดส่วนการส่งออกเป็น 40%
“ปัจจุบันเรามีการส่งออกไปยังประเทศพม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา มัลดีฟส์ และแอฟริกาใต้ โดยในส่วนของกลุ่มประเทศเออีซีนั้นเราได้มีการเข้าไปบุกเบิกตลาดล่วงหน้าเป็นเวลาประมาณ 7 ปีจนปัจจุบันถือเป็นผู้นำตลาด ทั้งยังมีการรับจ้างผลิตในลักษณะ OEM ให้แบรนด์ท้องถิ่นในแต่ละประเทศอีกด้วย”
ในปี 2556 บริษัทวางงบประมาณการตลาดประมาณ 500 ล้านบาท โดยในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณไปแล้ว 70% ในการส่งเสริมการขาย โฆษณา ประชาสัมพันธ์ รวมถึงการจัดแคมเปญพิเศษ ตลอดจนดำเนินกิจกรรมการตลาดในรูปแบบต่างๆ ล่าสุดบริษัทมีการใช้คู่พรีเซ็นเตอร์แม่-ลูกชื่อดังคือ “ภัสสรา เตชะณรงค์” และ “สงกรานต์ เตชะณรงค์” พร้อมจัดแคมเปญฉลองใหญ่ 50 ปีนมตรามะลิ ด้วยการแจกทองคำทุกสัปดาห์จนถึงวันที่ 19 ม.ค. 57 รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านบาท
บริษัทยังมีการปรับกลยุทธ์การตลาดด้านต่างๆ อีกหลายด้าน แต่ที่สำคัญคือการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ตราเบิร์ดวิงส์และออร์คิดทำตลาดระดับล่าง โดยเฉพาะในส่วนของร้านกาแฟรถเข็นซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทบทวนรายละเอียดและทิศทางการดำเนินงานว่าจะเป็นไปในลักษณะใด ระหว่างการจัดรถส่งผลิตภัณฑ์ไปยังร้านกาแฟรถเข็นโดยตรง หรืออาจจะเป็นในลักษณะอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมมากกว่า
“ในปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าบริษัทได้รับผลกระทบและความเสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี 2554 อย่างมาก แต่ปัจจุบันถือว่าเริ่มเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวแล้ว โดยได้มีการใช้เงินลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาทในการปรับโรงงานเดิมที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจาก 3 แสนลังต่อปี เป็น 9 แสนลังต่อปีเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคและการเติบโตของตลาดในอนาคต”
ตลาดผลิตภัณฑ์นมและครีมเทียมของประเทศไทยถือว่ามีอัตราการเติบโตที่ไม่หวือหวามากนัก หรือเฉลี่ยเพียงปีละ 5% เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างภาษีและต้นทุนการผลิต ในปี 2557 บริษัทจึงมีแผนการลงทุนที่ชัดเจนในหลายๆ ด้านเพื่อเพิ่มยอดขายเป็น 15% นอกจากนั้นยังมีแผนการลงทุนระยะกลาง 5-10 ปีในการพิจารณาเรื่องการสร้างโรงงานแห่งที่สอง แต่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณารายละเอียดด้านต่างๆ ว่าจะลงทุนในประเทศ หรือต่างประเทศ