“ดัชมิลล์” จับมือ 4 หน่วยงานภาครัฐพัฒนาธุรกิจฟาร์มโคนมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รับมือหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เร่งเน้นลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำกว่า 14.83 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำนมดิบจากวันละ 11.8 กก.ต่อโคนมหนึ่งตัวเป็น 15 กก.ภายใน 3 ปี ตลอดจนพัฒนาฟาร์มที่ผ่านมาตรฐาน GAP จาก 40% เป็น 70%
นายพรชัย สวัสดิ์สุขสบชัย รองประธานกลุ่มบริษัทดัชมิลล์ เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัทดัชมิลล์ได้ตั้งหน่วยงาน “Dutch Mill Dairy Farm” เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกรโคนม โดยได้ริเริ่มโครงการ “ไตรภาคีเพิ่มศักยภาพน้ำนมดิบ” เพื่อเร่งดำเนินการใน 3 ด้านคือ งานส่งเสริมการปรับปรุงฟาร์มเข้าสู่มาตรฐานโคนม งานส่งเสริมด้านการปรับปรุงผลผลิตน้ำนมดิบต่อโคมนม 1 ตัว และงานส่งเสริมด้านการปรับปรุงคุณภาพน้ำนมดิบ
กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ มุ่งสู่การเป็นหนึ่งในบริษัทผู้นำด้านการผลิตและการตลาดผลิตภัณฑ์นมที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จึงให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมนมของประเทศไทย ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์นมคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความตระหนักให้เกษตรกรโคนมไทยตื่นตัวในการปรับปรุงคุณภาพน้ำนมโคตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพน้ำนมดิบให้ทัดเทียมกับมาตรฐานนมต่างประเทศ รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตและพัฒนาผลผลิตต่อตัวต่อวันให้ได้สูงมากขึ้นเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยปกป้องธุรกิจฟาร์มโคนมและผลักดันอุตสาหกรรมน้ำนมโคของไทยให้แข่งขันได้ เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558
“ปัจจุบันผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยมีประมาณ 20,824 ครอบครัว มีจำนวนโคนมทั้งสิ้น 577,841 ตัว คิดเป็นจำนวนโคนมที่สามารถให้ผลผลิตน้ำนมดิบได้ 258,030 ตัว โดยโคนม 1 ตัวสามารถผลิตน้ำนมดิบได้เฉลี่ยวันละ 11.8 กิโลกรัม คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 14.83 บาท ซึ่งถ้าหากผู้เลี้ยงโคนมพัฒนาผลผลิตต่อตัวต่อวันได้สูงขึ้นจะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลงและมีรายได้มากขึ้น”
ล่าสุด กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ ได้พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมโค เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC” โดยข้อตกลงต่างๆ จะเริ่มต้นดำเนินการทันทีไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นกำหนดเริ่มต้นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
วัตถุประสงค์ของความร่วมมือคือ ร่วมกันพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมในฟาร์มโคนมในด้านปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งมีมาตรฐานการผลิตน้ำนมที่ดีให้สามารถแข่งขันกับนมจากต่างประเทศได้เมื่อเข้าสู่ AEC โดย กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ ถือเป็นภาคเอกชน ผู้ประกอบการธุรกิจนมรายแรกและรายเดียวที่ได้อาสาร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมโคเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของเกษตรกรโคนม และอุตสาหกรรมนมไทยให้มีเสถียรภาพ สามารถแข่งขันได้เมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้าและเป็นพลังขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมนมไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
“ข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ครอบคลุมการดำเนินการนำร่องโครงการในกลุ่มเกษตรกรฟาร์มโคนมที่เข้าร่วมคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับดัชมิลล์รวมทั้งสิ้น 3,587 ฟาร์มจากศูนย์รับน้ำนมดิบ 18 แห่ง โดยมีการกำหนดเป้าหมายข้อตกลงความร่วมมืออย่างชัดเจนใน 4 ด้านคือ พัฒนาปริมาณผลผลิตน้ำนมดิบต่อตัวต่อวันให้เพิ่มขึ้นจาก 11.8 กิโลกรัมเป็น 15 กิโลกรัมภายใน 3 ปี รวมถึงพัฒนาคุณภาพน้ำนมโคให้มีจำนวนเซลล์โซมาติกไม่เกิน 5 แสนเซลล์ต่อมิลลิลิตรและแบคทีเรียไม่เกิน 5 แสนโคโลนีต่อมิลลิลิตร นอกจากนี้ยังจะเน้นพัฒนาศูนย์รวบรวมน้ำนมทุกศูนย์ในพื้นที่ดำเนินการผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP ตลอดจนพัฒนาฟาร์มเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ให้เพิ่มขึ้นจาก 40% เป็นไม่น้อยกว่า 70%”
นอกจากนี้ ในวันที่ 31 พฤษภาคม-1 มิถุนายน ศกนี้ กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ยังได้เตรียมจัดกิจกรรมพิเศษเนื่องในโอกาสวันดื่มนมโลก (World Milk Day) เพื่อร่วมรณรงค์ ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการดื่มนม และส่งเสริมการให้ผู้บริโภคเลือกดื่มนมคุณภาพเพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ให้ทั้งสาระ ความรู้ และความบันเทิงใจตลอดงาน