อุตสาหกรรมรองเท้าเกาะติดสัญญาณซื้อวัตถุดิบป้อนลดต่ำ 50% ทำตลาดรองเท้าในประเทศระส่ำส่อแววการผลิตลดลงตาม หลังความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่ง ประชาชนรัดเข็มขัดเหตุรายได้ไม่คุ้มรายจ่าย ขณะที่ค่าแรง 300 บาท-แรงงานขาดตลาดดันกิจการรองเท้ารายกลางเล็งหนีไปเพื่อนบ้านตามรายใหญ่ คาดเห็นชัดปี 2557
นายชนินทร์ จิตต์โกมุท นายกสมาคมรองเท้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสัญญาณที่การผลิตรองเท้าเพื่อป้อนตลาดในประเทศอาจต้องลดการผลิตลงเฉลี่ย 50% เนื่องจากพบว่ายอดขายรองเท้าในประเทศลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งตลาดรองเท้าในประเทศมีมูลค่าปีละประมาณเกือบแสนล้านบาท สาเหตุน่าจะมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคคนไทยปรับลดลงต่อเนื่องจากค่าใช้จ่ายของประชาชนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้
“เราเห็นสัญญาณชัดขึ้น โดยเฉพาะเดือน มิ.ย. 56 มีการลดการสั่งซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนต่างๆ ที่ป้อนทำรองเท้าลงแล้วกว่า 50% จึงคาดเดาได้เลยว่าการผลิตจะลดลง 50% ซึ่งตลาดในประเทศที่ซบเซาครั้งนี้น่าจะเป็นอะไรที่แย่กว่าตลาดส่งออกเพราะการบริโภคในประเทศปีนี้ถือว่าลดลงมาก ซึ่งสาเหตุอาจมาจากภาระการใช้จ่ายของประชาชนมีมากจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐผ่านโครงการรถคันแรก ต้นทุนพลังงาน ราคาสินค้าที่สูงขึ้น แต่การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันไล่ไม่ทันค่าใช้จ่ายเลยทำให้ประชาชนประหยัดมากขึ้น” นายชนินทร์กล่าว
ปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรองเท้ารายใหญ่ๆ ได้มีการตัดสินใจขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชา พม่า และลาว โดยมีแผนชัดเจนแล้วเนื่องจากค่าแรงไทยที่สูงขึ้นสู่ระดับ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานของไทยจะมีมากขึ้น จึงทำให้ผู้ประกอบการรายกลางเริ่มออกไปสำรวจตลาดเพื่อนบ้านเพื่อตัดสินใจวางแผนการขยายการลงทุนไปยังประเทศเหล่านี้ตามกิจการรายใหญ่แล้ว และคาดว่าจะเห็นการตัดสินใจภายในปี 2557
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการรองเท้าขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) การย้ายไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านคงยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่ด้วยปัจจัยความไม่พร้อมหลายๆด้าน ดังนั้นจึงต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ส่งเสริมให้กิจการไทยไปลงทุนยังเพื่อนบ้านควรจะมีข้อมูลเชิงลึกในแต่ละประเทศให้ด้วยเพราะเอสเอ็มอีกว่า 90% ขาดข้อมูลในเชิงลึก
“ผมคิดว่าธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นในที่สุดจะอยู่ยาก โดยสิ่งทอน่าจะไปก่อนที่ชัดเจน รองมาก็น่าจะเป็นรองเท้า เครื่องหนัง แต่ก็ใช่ว่าจะไปทั้งหมด โดยการผลิตที่เน้นแบรนด์สินค้าและคุณภาพจะยังคงอยู่ในไทย และการไปแบบชัดเจนคงจะใช้เวลาทยอยไปราว 5-10 ปี” นายชนินทร์กล่าว