“เอโอซี” ชี้เคเบิลทั่วประเทศต้องทุ่มงบไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท สำหรับก้าวข้ามผ่านสู่ยุคดิจิตอล พร้อมเป็นตัวกลางผนึก 5 พันธมิตรคอนเทนต์ยักษ์ “ทรูวิชั่นส์-ทริปเปิลที, เน็กซ์สเต็ป, แสนสุขเน็ตเวิร์ก และอาร์เอส” ดึงคอนเทนต์ยอดนิยมจัดเป็น “ซูเปอร์แพก” 140 ช่อง ชนซีทีเอช
นายณัฐชัย อักษรดิษฐ์ รองประธานกลุ่มสมัชชาเครือข่ายผู้ประกอบการเคเบิลทีวีอย่างยั่งยืน หรือเอโอซี (AOC/ Assembly of Cable Operators) องค์กรที่มีผู้ประกอบการเคเบิลทีวีเป็นเครือข่ายทั่วประเทศมากกว่า 203 ราย เปิดเผยว่า ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายระบบการแพร่สัญญาณภาพจากอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลนั้น คาดว่าผู้ประกอบการเคเบิลโดยรวมในไทยต้องใช้งบประมาณลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ทั้งการลงทุนด้านหัวดูดรับสัญญาณ กล่องเซตท็อปบ็อกซ์ และระบบอื่นๆ ในส่วนของสมัชชาฯ มีเครือข่ายรวมกว่า 203 ราย ซึ่งพบว่ามีการลงทุนปรับสู่ดิจิตอลแล้ว 10 กว่าราย
“คาดว่าในปีหน้าคงจะได้เห็นผู้ประกอบการปรับโมเดลเป็นดิจิตอลอันใหม่แล้ว เพราะพูดง่ายๆ ถ้าใครไม่ปรับตัว ไม่เป็นดิจิตอล ก็เหมือนกับว่าปีนี้ก็เป็นศพ ส่วนปีหน้าก็เผาเลย”
การปรับสู่ระบบดิจิตอลดังกล่าวถือเป็นเจตจำนงสำคัญของสมัชชาฯ ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อประมาณต้นปีนี้ โดยมีผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่น 203 ราย หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการทั่วประเทศเข้าร่วมด้วย พร้อมกับการตั้งโครงการ “พัฒนาระบบการออกอากาศสู่ดิจิตอล และทางเลือกช่องทางรายการคุณภาพจากกลุ่มพันธมิตรคอนเทนต์ชั้นนำ”
ล่าสุด สมัชชาฯ เป็นแกนกลางให้แก่เครือข่ายในการจับมือร่วมกับ 5 ค่ายคอนเทนต์ชั้นนำคือ ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทริปเปิลที เน็ตเวิร์ค จำกัด, บริษัท เน็กซ์สเตป จำกัด, บริษัท แสนสุขเน็ตเวิร์ค จำกัด และบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในการเปิดตัวแพกเกจใหม่ชื่อว่า “ซูเปอร์แพก” จำนวน 140 ช่อง แบ่งเป็นรายการเรตติ้งสูง 61 ช่อง และจากฟรีทูแอร์อีก 79 ช่อง ซึ่งขณะนี้เริ่มมีเครือขายสมัชชาฯ ที่สนใจติดต่อซื้อแพกเกจได้แล้ว และชำระค่าแพกเกจกับทางเจ้าของคอนเทนต์โดยตรง
“เรามั่นใจว่าแพกเกจนี้ของเราสู้ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นใคร มีครบทุกอย่าง โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เราสามรถเลือกซื้อได้อีกด้วย และเจ้าของคอนเทนต์รายใหญ่ไทยก็มี ทรูวิชั่นส์ แกรมมี่ อาร์เอส เป็นต้น ก็มาอยู่กับเราหมด อนาคตก็จะมีเพิ่มเข้ามาอีก ตอนนี้มีผู้ประกอบการไหลเข้ามาอยู่ร่วมกับสมัชชาฯ ของเรามากขึ้น ก่อนหน้านี้เราไม่มีพรีเมียร์ลีกเราก็ไม่กลัว และแม้ว่าทรูวิชั่นส์จะไม่มีพรีเมียร์ลีก เราก็ไม่กลัว เพราะลูกค้าของเราไม่ใช่ลูกค้าที่ดูพรีเมียร์ลีกเท่านั้น” นายณัฐชัยกล่าว
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการสรุปราคาแพกเกจกับทางพันธมิตรเหล่านี้อยู่ แต่ค่าสมาชิกคาดว่าก็จะอยู่ในระดับเดิมระหว่าง 300-350 บาทต่อเดือน ไม่ได้เพิ่มขึ้น คาดว่าแพกเกจนี้จะช่วยทำให้ฐานของจำนวนผู้ชมเครือข่ายเคเบิลของสมัชาชาฯ เพิ่ม 10% จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 6 แสนกว่าราย จากจำนวนผู้ดูเคเบิลทีวีทั่วประเทศไทยที่มีประมาณ 1.2 ล้านรายเท่านั้น ไม่ถึง 3 ล้านกว่ารายตามที่เคยมีผู้ให้ข้อมูลออกมา
นายณัฐชัย กล่าวด้วยว่า การร่วมมือกันครั้งนี้เป็นข้อตกลงที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นมีอำนาจบริหารควบคุมธุรกิจของตัวเองต่อไปได้อย่างเต็มที่ สามารถดำเนินการฐานข้อมูลสมาชิก การเปิด และปิดสัญญาณ การออกบิลของตัวเองได้ และรักษาฐาข้อมูลตัวเองเป็นความลับได้ด้วย ออกใบแจ้ง และเก็บค่าบริการของตัวเองได้โดยตรง
นอกจากนั้น สมัชชาฯ อยู่ระหว่างจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางในการพัฒนาคอนเทนต์ การพัฒนาโอทีที หรือโอเวอร์เดอะท็อป การพัฒนาเครือข่ายเน็ตเวิร์กต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นระบบดิจิตอลสมบูรณ์แบบอีกด้วย ซึ่งในประเทศที่พัฒาแล้ว รายได้ที่มาจากสมาชิก หรือซับสไคร์เบอร์มีเพียง 30% เท่านั้น ส่วนอีก 70% มาจากโฮมชอปปิ้ง และอื่นๆ ที่ต่อยอดออกมา แต่ที่เมืองไทย 70% ยังคงเป็นรายได้หลักที่ทมาจากสมาชิกคนดู อย่างไรก็ตาม การพัฒนาจุดนั้นได้จะต้องรอให้ผู้ประกอบการสามารถแจกกล่องเซต ท็อปบ็อกซ์ฟรีให้แก่สมาชิกก่อน ซึ่งทางสมัชชาฯ เองก็ตระเตรียมไว้แล้วประมาณ 600,000 กล่องขั้นต่ำ ราคาต้นทุนประมาณ 1,200 บาทต่อกล่อง