xs
xsm
sm
md
lg

“อสมท” เตะถวายพานให้ “ซีทีเอช”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ซีทีเอช” - “อสมท” จับเข่าคุยถกหาทางออกให้ได้ เผยเหตุซีทีเอชชงสูตรให้ ยอมอ่อนข้อดีลขายพรีเมียร์ลีกให้ “อสมท” แบบปีต่อปี เหตุลูกค้าเมินซื้อโฆษณาหลังพบราคาขายสปอนเซอร์แพงหูฉี่ ส่วนเคเบิลทีวีไม่ใช่ทางเลือกที่ดีของการลงโฆษณา ยอมเดินเกมแบบทรูวิชั่นส์แบ่งรายได้โฆษณาร่วมกับฟรีทีวี

กรณีการเจรจาต่อรองการซื้อขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ยังคงถูกจับตามองอย่างไม่ละสายตาจากหลายฝ่าย

ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะพนักงาน อสมท เอง ที่ อสมท ภายใต้การนำของ สุธรรม แสงประทุม ประธานบอร์ด และนายจักรพันธุ์ ยมจินดา รองประธานบอร์ด ที่ทั้งสองคนแสดงออกนอกหน้าอย่างชัดเจนที่จะผลักดันให้ อสมท ควักเงินก้อนโตจ่ายค่าลิขสิทธิ์ครั้งนี้ให้ได้จากแรงบีบทางการเมือง

แม้ล่าสุดจะมีการสรุปจากคณะทำงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบกรณีนี้ 4 คนของ อสมท ประกอบด้วย นายจักรพันธุ์ ยมจินดา รองประธานกรรมการ, นายสุรชัย โฆษิตเสรีวงศ์ กรรมการ, นายยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ กรรมการ และนายธนะชัย วงศ์ทองศรี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ด้วยการเสนอเป็น 2 สูตรใหม่ในการซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้ ด้วยโมเดลการซื้อขายแบบปีต่อปีเพื่อความสบายใจของคนใน อสมท แว่วว่าโมเดลนี้ทางซีทีเอชและ อสมท ภายใต้การคุมคณะทำงานของนายจักรพันธุ์พยายามที่จะหาทางให้ อสมท ต้องควักเงินซื้อลิขสิทธิ์นี้ไห้ได้

กระทั่งซีทีเอชเองก็ยอมเสนอทางเลือกนี้ให้ อสมท เองเลยทีเดียว จากเดิมที่เคาะตัวเลขการซื้อขายลิขสิทธิ์ครั้งนี้ที่ 480 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 160 ล้านบาท มาเหลือเพียงปีละ 42.5 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 4 เท่าตัว น่าจะเป็นตัวเลขที่คน อสมท พอใจได้ ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะรู้ผลอย่างเป็นทางการว่าจะเซ็นสัญญากันจริงๆ ได้สักทีหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าทำไมครั้งนี้ฟรีทีวีต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทั้ง 17 แมตช์ด้วย ทั้งที่ครั้งที่ผ่านๆ มาที่ทางบริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน)ที่เคยได้ลิขสิทธิ์บริหารการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกในไทยมาโดยตลอดนั้นไม่เคยมีปัญหาแบบนี้ออกมาเลย

แหล่งข่าวจากวงการเอเยนซีโฆษณาเปิดเผยว่า ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดผ่านทางฟรีทีวีครั้งที่ผ่านๆ มาก็มีการเซ็นสัญญาซื้อขายระหว่างทรูวิชั่นส์กับฟรีทีวีที่ร่วมถ่ายทอดสดเช่นกัน แต่เป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากเนื่องจากทางทรูวิชั่นส์ซื้อมาในราคาที่ไม่สูงเท่าครั้งนี้

ขณะที่ทางทรูวิชั่นส์ใช้โมเดลการหารายได้จากสปอนเซอร์เอง ส่วนการจับมือกับทางฟรีทีวีคือลักษณะของการเช่าเวลาออกอากาศแบ่งรายได้โฆษณาร่วมกันจึงไม่เป็นปัญหา แต่ในกรณีของซีทีเอชนี้ใช้คนละโมเดล เพราะยอมให้ฟรีทีวีหารายได้จากสปอนเซอร์ได้อีกทางหนึ่งด้วย ทำให้เกิดดีลราคาขายที่ 480 ล้านบาทนั่นเอง

สำหรับซีทีเอชต้องยอมรับว่าการซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้สูงกว่าครั้งก่อนหลายเท่าตัว หรือเฉียดๆ 10,000 ล้านบาทตามที่เป็นข่าวออกมา จากปกติทรูวิชั่นส์ซื้อมาราว 2,000 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้ซีทีเอชต้องพลิกโมเดลการหารายได้จากการขายโฆษณาที่แตกต่างจากทรูวิชั่นส์เพื่อดึงความสนใจให้เอเยนซีโฆษณาและเจ้าของสินค้ายอมควักกระเป๋าซื้อโฆษณาร่วมเป็นสปอนเซอร์ให้ได้มากที่สุด

ขณะที่เคเบิลทีวียังถือเป็นสื่อรองที่เอเยนซีโฆษณาและเจ้าของสินค้าส่วนใหญ่ยังไม่กล้าลงโฆษณา อีกทั้งราคาแพกเกจสปอนเซอร์พรีเมียร์ลีกครั้งนี้ยังสูงกว่าครั้งก่อนร่วม 3 เท่าตัว หรือขายในราคาแพกเกจละ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 450 ล้านบาท ซีทีเอชจึงต้องหาพันธมิตรทางฟรีทีวีเพื่อดึงความมั่นใจให้ลูกค้า เอเยนซี และเจ้าของสินค้าที่ร่วมเป็นสปอนเซอร์ให้ได้มากที่สุด แม้ว่าการเจรจากับทางช่อง 3 และ 7 จะไม่สำเร็จเพราะเสนอในราคาที่สูงจากครั้งก่อนมาก ช่อง 9 จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในเกมครั้งนี้ ดังนั้นไม่ว่าจะใช้โมเดลไหนออกมา อย่างน้อยที่สุด ซีทีเอชก็จะต้องรักษารายได้ให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ให้ได้

ทั้งนี้ โมเดลที่ทั้ง 2 บริษัทมีความเห็นตรงกันในครั้งนี้คือ การซื้อขายแบบปีต่อปีในแบบใดแบบหนึ่งระหว่าง 2 แบบให้เลือก คือ 1. จ่ายค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดให้ซีทีเอชคู่ละ 2.5 ล้านบาท และแบ่งรายได้จากโฆษณาร่วมกันในอัตราส่วน 50:50 ไม่รวมรายได้จากรายการไฮไลต์ เบื้องต้นคาดว่าจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ซีทีเอชราว 42.5 ล้านบาท (ยังไม่รวมรายได้จากการแบ่งรายได้โฆษณาร่วมกัน)

2. จ่ายค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดให้ซีทีเอชคู่ละ 2 ล้านบาท และแบ่งรายได้จากโฆษณาร่วมกันในอัตราส่วน 50:50 รวมรายได้จากรายการไฮไลต์ด้วย เบื้องต้นคาดว่าจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ซีทีเอชราว 34 ล้านบาท (ยังไม่รวมรายได้จากการแบ่งรายได้โฆษณาร่วมกัน) ซึ่งโมเดลนี้ทาง อสมท เชื่อว่าน่าจะมีรายได้ในปีแรกราว 300 ล้านบาท

ส่วนของทรูวิชั่นส์นั้น ในฤดูกาล 2012/2013 ที่ผ่านมาได้จับมือกับทางช่อง 3 เพื่อร่วมกันถ่ายทอดสดการแข่งขันพรีเมียร์ลีกรวม 17 แมตช์เช่นกัน เฉลี่ย 2 แมตช์ต่อเดือน ซึ่งมี 4 แมตช์ที่เป็นการแข่งขันของคู่บิ๊ก 4 โดยมีสปอนเซอร์หลัก 3 ราย แพกเกจขายราคา 60 ล้านบาท คือ ยามาฮ่า, ช้าง และยูโรคัสตาร์ด

ส่วนการขายโฆษณาทางฟรีทีวีนั้นทางช่อง 3 เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด โดยวางราคาโฆษณาไว้เท่ากับราคาเดิมของรายการในช่วงนั้น เช่น ช่วงละครก่อนข่าวจะอยู่ที่ 3.6 แสนบาทต่อนาที และช่วงละครหลังข่าวอยู่ที่ 4.8 แสนบาทต่อนาที ซึ่งรายได้โฆษณาครั้งนั้นจะมีการแบ่งรายได้กับทางทรูวิชั่นส์ในอัตราส่วนที่ตกลงกันไว้ แต่เฉพาะช่อง 3แล้วน่าจะมีรายได้จากการร่วมถ่ายทอดสดครั้งนั้นไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น