ฟีเวอร์ “พี่มากพระโขนง” ดึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 20% ทะลุ 7,000 ล้านบาท “เมเจอร์” สุดปลื้ม ลุ้นรายได้รวมโต 25% มากกว่า 5,000 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา เฉพาะไตรมาส 2 โตสูงสุด 50% เป็นประวัติการณ์ ตอกย้ำครึ่งปีหลังโตต่อเนื่อง หน้าหนังดี ผุดโรงหนังเพิ่มอีก 65 โรง ล่าสุดเทอีก 3 ล้านเหรียญสหรัฐจ่อโรง 4DX 3 โรง มั่นใจส่งครึ่งปีหลังโตได้อีก 20% แน่
นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เติบโตมากที่สุดปีหนึ่ง หรือทั้งปีน่าจะโตได้กว่า 20% คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6,500-7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นภาพยนตร์ไทย 45% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วนไม่ถึง 40% และต่างประเทศ 55%
เนื่องจากปีนี้หน้าหนังดีทั้งหนังไทยและต่างประเทศ เช่น ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีหนังทำเงินเกิน 100 ล้านบาทหลายเรื่องทั้งไทยและเทศ เช่น ฟาสต์ 6, ไอรอนแมน 3 และพี่มากพระโขนง ส่วนครึ่งปีหลังยังมีหนังอีก 3-4 เรื่องที่คาดว่าจะทำเงินเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป โดยเฉพาะหนังไทยแนวโน้มจะทำเงินมีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากจำนวนโรงภาพยนตร์ที่เพิ่มขึ้น คาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าสัดส่วนภาพยนตร์ไทยจะเพิ่มเป็น 60% ได้
ในส่วนของเมเจอร์ 6 เดือนแรกมองว่ารายได้เติบโตถึง 30% เทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปีก่อน โดยเฉพาะในไตรมาสสองพบว่ามีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ดำเนินการมาเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีหนังทำเงินเกิน 100 ล้านบาทหลายเรื่อง โดยเฉพาะหนังไทยเรื่อง พี่มากพระโขนง
ส่วนในครึ่งปีหลังมองว่า จากการเพิ่มจำนวนโรงภาพยนตร์อีก 65 โรงในต่างจังหวัด และโรงหนังส่วนใหญ่เป็นระบบดิจิตอล บวกกับหน้าหนังทำเงิน มั่นใจว่าจะเติบโตได้อีกไม่ต่ำกว่า 20% หรือทั้งปีน่าจะมีรายได้เติบโตถึง 25% สูงสุดตั้งแต่ดำเนินการมา จากเป้าเดิมที่วางไว้ 15% หรือราว 5,000 ล้านบาท
นายวิชากล่าวต่อว่า สำหรับการลงทุนในปีนี้วางงบไว้ที่ 1,000 ล้านบาทเพื่อขยายโรงภาพยนตร์ราว 100 โรงใน 13-15 สาขาทั่วประเทศ เฉพาะครึ่งปีหลังจะเปิดเพิ่ม 65 โรง นอกจากนี้ยังได้ร่วมทุนกับทางบริษัท ซีเจโฟร์ดีเพล็กซ์ จำกัด ในการเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ระบบดิจิตอล 4 มิติ 4DX อีก 3 โรง ลงทุนโรงละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสัดส่วนการลงทุน เมเจอร์ 70% และซีเจฯ 30% โดยสาขาแรกที่จะเปิดในปีนี้คือ รัชโยธิน ตามด้วยเชียงใหม่ และหาดใหญ่
เฉพาะที่สาขารัชโยธิน มองว่า 1 ปีแรกจะมีรายได้ 40 ล้านบาทจากราคาตั๋วที่แพงกว่าระบบปกติราว 1 เท่าตัว แต่ถ้าเทียบกับโรง 4DX ที่สยามพารากอนจะถูกกว่า 20% ส่วนในปีหน้าจะขยายเพิ่มอีก 2 สาขาในกรุงเทพฯ โดยยังคงเป็นการร่วมทุน และเอไอเอสยังคงเป็นเนมมิ่งสปอนเซอร์เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดโรงภาพยนตร์ 4DX ทั่วโลกมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากตัวเลขล่าสุดปีนี้มีจำนวนรวมกว่า 56 โรงภาพยนตร์ และภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 100 โรงใน 14 ประเทศ เช่น เกาหลีใต้, จีน, เม็กซิโก, ไทย, บราซิล , อิสราเอล, รัสเซีย, เปรู, ฮังการี, ญี่ปุ่น, โปแลนด์, เช็ก, บัลแกเรีย และไต้หวัน โดยไทยเป็นอันดับ 3 ในเอเชียที่มีโรงภาพยนตร์ระบบดิจิตอล 4 มิติ 4DX มากสุด รองจากเกาหลีที่มีอยู่ 22 โรง และจีนเป็นอันดับสอง จากเมื่อ 3 ปีก่อนไทยเป็นอันดับ 3 ที่มีโรงหนัง 4DX