xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.หวั่น พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านสะดุด กระทบรถไฟสายบ้านไผ่-นครพนม 4.2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.จ้างออกแบบรถไฟสายใหม่ (บ้านไผ่-นครพนม) วงเงินลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าประมูลก่อสร้างในปี 58 ต่อจากสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เผยเป็นสายใหม่ ไม่มีเขตทางเดิมต้องเวนคืนใหม่ตลอดแนว คาดเชื่อมขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยวจากลาว-จีน ได้สะดวก “ประภัสร์” ยอมรับหาก พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านสะดุดทำโครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่เป็นหมัน
 
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (9 ก.ค.) ร.ฟ.ท.ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท โชติจินดา มูเชล คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท พีบี เอเชีย จำกัด และบริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรมและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 199.02 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 15 เดือน (9 ก.ค. 56-9 ต.ค. 57) โดยหลังออกแบบเสร็จจะดำเนินการเพื่อขออนุมัติด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ประมาณ 6 เดือน และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการเพื่อเปิดประกวดราคาก่อสร้างได้ต้นปี 2558 ใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี 

ทั้งนี้ รถไฟสายบ้านไผ่-นครพนมจะเป็นรถไฟสายใหม่เส้นทางที่ 2 ที่จะเปิดประกวดราคาต่อจากสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กิโลเมตร วงเงิน 7.7 หมื่นล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการนำเสนอรายงานผลกระทยสิ่งแวดล้อมครั้งสุดท้าย คาดว่าภายใน 1-2 เดือนจะผ่าน EIA และเปิดประกวดราคาได้ปลายปี 2556 เริ่มก่อสร้างต้นปี2557 โดยทั้ง 2 สายจะเป็นระบบรถไฟดีเซล เป็นทางคู่ซึ่งจะมีความเร็ว 160 กม./ชม. 

“การศึกษาออกแบบสายบ้านไผ่-นครพนม ช่วงแรกจะเป็นการวางแนวเส้นทาง ซึ่งส่วนใหญ่จะผ่านพื้นที่ว่างไม่ใช่ชุมชน และไม่ผ่านพื้นที่ป่าสงวน ดังนั้นการเวนคืนจะไม่ยุ่งยากและใช้งบประมาณไม่มาก และจะเป็นเส้นทางที่เปลี่ยนการเดินทางของคนภาคอีสานจากปัจจุบันที่ใช้รถยนต์เป็นหลักและเกิดอุบัติเหตุบ่อย มาเป็นรถไฟที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและปลอดภัยกว่า นอกจากนี้จะมีศูนย์เปลี่ยนถ่ายใกล้สะพานข้ามมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) เพื่อรองรับสินค้าจากจีนและลาวด้วย” นางสร้อยทิพย์กล่าว

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า โครงการรถไฟสายบ้านไผ่-นครพนม ได้ศึกษามาตั้งแต่ปี 2537 แต่ไม่มีงบประมาณในการก่อสร้าง โดยขณะนี้โครงการถูกบรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทด้วย หากกฎหมายไม่ผ่านจะมีผลกระทบต่อโครงการแน่นอน และประเทศไทยจะเสียโอกาสในการพัฒนาระบบรถไฟ ซึ่งเส้นทางนี้จะมีความสำคัญในการเชื่อมต่อกับรถไฟลาว ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบราง และกำลังหาข้อยุติเรื่องการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในประเทศลาวกับทางจีน ช่วยเพิ่มความสะดวกการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว โดยในส่วนของ ร.ฟ.ท.ยืนยันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใสให้ประชาชนมีส่วนร่วม และดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอน

ด้านนายนิรัตน์ ตันสวัสดิ์ กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า จะต้องเวนคืนตลอดเส้นทางเพราะไม่มีแนวรถไฟเดิม แต่การเวนคืนไม่น่าจะมีปัญหามากนักเนื่องจากผ่านที่ราบ พื้นที่ว่างเปล่า ทุ่งนา ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลังเป็นส่วนใหญ่ โดยแนวเส้นทางจะเลียบชานเมือง ไม่ผ่านชุมชนหนาแน่น แนวเขตทางประมาณ 80 เมตร และจะมีจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า 2 แห่งที่มุกดาหาร และนครพนม 

สำหรับรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนมมีระยะทาง 347 กิโลเมตร วงเงินรวม 4.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 3.8 หมื่นล้านบาท ค่าเวนคืนประมาณ 3 พันล้านบาท ค่าที่ปรึกษาประมาณ 700 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ประมาณ 12.3% แนวเส้นทางครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม มี 14 สถานี เริ่มจากบ้านไผ่ กุดรัง บรบือ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เชียงขวัญ โพนทอง หนองพอก นิคมคำสร้อย มุกดาหาร หว่านใหญ่ ธาตุพนม เรณูนคร และนครพนม
กำลังโหลดความคิดเห็น