xs
xsm
sm
md
lg

เสนอออกกฎหมายคุมห้าง-คอนโดฯ ต้องศึกษาผลกระทบจราจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ( สนข.)
สนข.ทำแผนแก้จราจรเร่งด่วน เสนอออกกฎหมายควบคุมอาคารขนาดใหญ่ ห้องชุด คอนโดฯ โรงแรม ต้องศึกษาผลกระทบจราจรแบบละเอียด ล้วงลึกถึงปัญหาทางเข้าออกอาคารกระทบจราจรบนถนนหรือไม่เพื่อร่วมรับผิดชอบปัญหาสังคม จากเดิมที่กฎหมายกำหนดแต่ขนาดพื้นที่จอดรถ โดยต้นแบบญี่ปุ่น อังกฤษ ที่เน้นเดินทางด้วยรถสาธารณะ

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้สัมมนาเผยแพร่ความรู้และนำเสนอผลการศึกษาจัดทำแผนเร่งด่วนในการปรับปรุงเบ็ดเสร็จบนถนนสายหลัก โดยพบว่าปัจจุบันโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชนก่อสร้างที่อยู่อาศัย ห้องชุด โรงแรม การก่อสร้างระบบขนส่งทางราง การก่อสร้างสะพาน การก่อสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ยังไม่มีการกำหนดรูปแบบวิธีการให้มีการศึกษาผลกระทบด้านการจราจร จึงกลายเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินทางทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหนาคร ปริมณฑล และในเมืองใหญ่ในจังหวัดต่างๆ จึงจำเป็นต้องจัดทำแผนเร่งด่วนในการปรับปรุงเบ็ดเสร็จบนถนนสายหลัก

นายธวัชชัย เหล่าศิริหงษ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจร มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า การแก้ปัญหาจราจรระยะยาวต้องมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอาคาร เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีแค่หัวข้อเรื่องการจราจร แต่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดว่าต้องศึกษาอะไรบ้าง ทำให้อาคารขนาดใหญ่ต่างๆ มีรถเข้าออกจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อการจราจร

ดังนั้นรัฐควรแก้ไขโดยวางกรอบการศึกษาและให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย (มท.) ออกประกาศภายใต้กฎหมายควบคุมอาคาร ระบุอาคารประเภทใดบ้างที่ต้องทำผลกระทบด้านการจราจรภายใต้ข้อกำหนดที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) กำหนด ซึ่งปัจจุบันกฎหมายระบุแค่เพียงพื้นที่จอดรถ เช่น อาคารขนาดใหญ่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไปต้องมีที่จอดรถ ถ้าเป็นอาคารใน กทม.ต้องมีที่จอดรถ 120 ตร.ม./คันเท่านั้น แต่อาคารแต่ละประเภทสร้างปัญหาการจราจรไม่เหมือนกัน เช่น คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า โรงแรม จะมีรถเข้าออกแตกต่างกัน จึงต้องระบุรายละเอียดให้ชัดเจน

โดย สนข.จะต้องนำแนวทางผลการศึกษาครั้งนี้ทำเป็นรายละเอียดให้ที่ประชุม คจร. อนุมัติ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่อนุมัติแผนการศึกษาผลกระทบด้านการจราจรใช้เป็นแนวทางการพิจารณา ซึ่งกรอบแนวทางนี้มีต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่น อเมริกา อังกฤษ ซึ่งมีการพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ อย่างรอบด้าน ครอบคลุมถึงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ เพิ่มเติมจากที่เมืองไทยมักจะศึกษาเฉพาะผลกระทบของรถส่วนตัวเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรได้อย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น