xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาโปรตุเกส,กรีซที่ยังไม่คลี่คลายอาจส่งผลวิกฤติหนี้ยูโรโซนปะทุขึ้นอีกครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

         ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลโปรตุเกสตอกย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ว่า วิกฤติหนี้ยูโรโซนอาจจะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากอยู่ในภาวะสงบมาเป็นเวลานานเกือบหนึ่งปี
        ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ทำให้วิกฤติหนี้ยูโรโซนสงบลงในช่วง  10 เดือนที่ผ่านมา หลังจากนายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี ได้ให้สัญญาในฤดูร้อนปี 2012 ว่า เขาจะทำทุกสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อปกป้องสกุลเงินยูโร โดยผ่านทางโครงการเข้าซื้อพันธบัตร อย่างไรก็ดี ปัญหาหลายประการกำลังก่อตัวในกรีซ, ไซปรัส, สโลเวเนีย, สเปน, อิตาลี และโดยเฉพาะในโปรตุเกสในช่วงนี้ หลังจากรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีต่างประเทศโปรตุเกสลาออกจากตำแหน่งในวันจันทร์และวันอังคารที่ผ่านมา
        นายกรัฐมนตรีเปโดร ปาสซอส โคเอลยูของโปรตุเกสกล่าวในวันอังคารว่า เขาไม่ยอมรับหนังสือลาออกของรัฐมนตรีต่างประเทศ และเขาจะพยายามปกครองประเทศต่อไป
        ถ้าหากรัฐบาลโปรตุเกสล่มสลายลง นักลงทุนก็จะตั้งคำถามว่า โปรตุเกสจะสามารถบรรลุเงื่อนไขที่ตั้งไว้ในมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินวงเงิน 7.8 หมื่นล้านยูโรจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงิน ระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือไม่ โดยโปรตุเกสได้ตกลงที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวในปี 2011
        ก่อนหน้านี้โปรตุเกสเคยได้รับการยกย่องว่า เป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่ทำทุกอย่างได้่อย่างถูกต้องในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังรับเงินช่วยเหลือ แต่ปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องยากที่โปรตุเกสจะสามารถรักษาชื่อเสียงในด้านนี้ได้  โดยไอเอ็มเอฟระบุในเดือนมิ.ย.ว่า หนี้สินของโปรตุเกสอยู่ในสถานะที่ "เปราะบางเป็นอย่างมาก"
        รัฐบาลกรีซเองก็เผชิญปัญหาจนเกือบต้องล่มสลายลงในช่วงก่อนหน้านี้ และรัฐบาลกรีซมีเวลาจนถึงวันจันทร์หน้าในการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลสามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของอียู-ไอเอ็มเอฟได้ โดยปัญหาใน โปรตุเกสและกรีซบ่งชี้ว่า วิกฤติหนี้ยูโรโซนอาจจะทวีความรุนแรงอย่างเต็มที่ได้อีกครั้ง
        เจ้าหน้าที่ยุโรปพยายามลดความกังวลในตลาดในช่วงที่ผ่านมา โดยนายโฆเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) กล่าวว่า วิกฤติหนี้ยูโรโซนได้ผ่านพ้นช่วงเลวร้ายที่สุดไปแล้ว ขณะที่นายโอลลี เรห์น กรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของยุโรป มักจะแสดงความไม่เห็นด้วยต่อผู้ที่คาดการณ์ว่า ยูโรโซนจะล่มสลายลง
        ถึงแม้เจ้าหน้าที่อียูพยายามลดความกังวลในตลาด แต่ก็ยอมรับว่า มีปัญหาบางประการในยูโรโซน และปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลให้ยูโรโซนประสบภาวะปั่นป่วนวุ่นวายได้
        นักการทูตคนหนึ่งของอียูกล่าวว่า "มีปัญหาเกิดขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมาและปัญหาเหล่านี้จะดำเนินต่อไปอีกนาน โดยเราอาจไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่เราตระหนักดีว่าภายใต้สถานการณ์ที่ดูเหมือน สงบนั้น มีปัญหาหลายประการที่อาจสร้างความเสียหายแก่เราได้ในอนาคต"
        รัฐมนตรีคลังของประเทศสมาชิกยูโรโซน 17 ประเทศได้ประชุมกัน ในวันอังคารที่ผ่านมา และมีการแสดงความเห็นตรงกันว่า "การคาดการณ์ ในทางบวกในยูโรโซนไม่ใช่สิ่งที่สมเหตุสมผลในปัจจุบัน และสถานการณ์ ในยูโรโซนเลวร้ายกว่าที่ปรากฏออกมา"
        นายอเล็กซ์ ไวท์ นักเศรษฐศาสตร์ของเจพี มอร์แกน กล่าวว่า สถานการณ์ในโปรตุเกสเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากเป็นพิเศษ 
        นายไวท์ระบุว่า "การที่นายเปาโล ปอร์ตาสลาออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีต่างประเทศของโปรตุเกส ส่งผลให้ความกังวลระยะใกล้ของ เราเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และระดับความเสี่ยงได้เพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้"
        สิ่งนีี้เกิดขึ้นในขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมในยูโรโซนพุ่งขึ้นอีกครั้ง  โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกสประเภทอายุ 10 ปี  พุ่งขึ้นเหนือ 8 % เมื่อวานนี้ ในขณะที่การลาออกของรัฐมนตรี โปรตุเกสอาจส่งผลให้รัฐบาลโปรตุเกสสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภา
        นายปอร์ตาสจำเป็นต้องตัดสินใจว่า เขาจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือจะให้พรรค CDS-PP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาของเขา ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล 
        สถานการณ์ในกรีซก็มีความน่าเป็นห่วงเช่นกัน โดยกระบวนการแปรรูปกิจการในกรีซหยุดชะงักลง ถึงแม้กระบวนการดังกล่าวจะช่วยให้กรีซปรับลดภาระหนี้สินลงได้ นอกจากนี้ การปฏิรูปกิจการภาครัฐก็ชะลอตัวลงด้วย
        นายกรัฐมนตรีแอนโตนิส ซามาราสของกรีซตัดความเป็นไปได้ในการดำเนินมาตรการปรับลดงบประมาณรอบใหม่ โดยขณะนี้รัฐบาลของเขาพยายามขอให้กลุ่มเจ้าหนี้ปรับลดเป้าหมายในการแปรรูปกิจการเป็นของเอกชน หลังจากรัฐบาลกรีซประสบความล้มเหลวในการขายธุรกิจก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ กิจการประกันสุขภาพของรัฐบาลก็ประสบปัญหาขาดแคลนเงิน 1 พันล้านยูโรด้วย
        กรีซกำลังรอเงินช่วยเหลือจากอียู-ไอเอ็มเอฟงวดล่าสุด ซึ่งมีวงเงิน 8.1 พันล้านยูโร และมีการคาดการณ์กันว่าอียู-ไอเอ็มเอฟอาจปฏิเสธที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวในบางส่วน และอาจจะทยอยจ่ายทีละน้อย เพื่อบังคับให้รัฐบาลกรีซทำตามข้อเรียกร้องของเจ้าหนี้ อย่างไรก็ดีกลุ่มเจ้าหนี้อาจไม่ดำเนินมาตรการที่แข็งกร้าวกว่านี้ต่อกรีซ เพราะกรีซ จำเป็นต้องไถ่ถอนพันธบัตรจำนวนมากในเดือนหน้า และไม่มีใครต้องการให้กรีซผิดนัดชำระหนี้
        เยอรมนีจะจัดการเลือกตั้งในเดือนก.ย. และรัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแองเจลา เมอร์เคลก็ตั้งใจที่จะไม่สร้างปัญหาก่อนการเลือกตั้ง
        ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในยูโรโซนขณะนี้รวมถึงปัญหาในสเปนและอิตาลี,ปัญหาของภาคธนาคารในสโลเวเนีย, ความล่าช้าในการปฏิรูปไซปรัสและข่าวอื้อฉาวในไอร์แลนด์
        ธนาคารเมดิโอแบงการะบุในช่วงปลายเดือนมิ.ย.ว่า อิตาลี "จะต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากอียูอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า นอกจากว่าจะมีการควบคุมต้นทุนการกู้ยืมให้อยู่ในระดับต่ำ และเศรษฐกิจอิตาลีได้รับแรงหนุนเข้ามาบ้าง
        นายกรัฐมนตรีเอ็นริโก เลตตาของอิตาลี ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือน เม.ย. เผชิญกับภาวะไร้เสถียรภาพในพรรคร่วมรัฐบาล โดยนายมาริโอ มอนติ อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี ขู่ที่จะถอนการสนับสนุนรัฐบาลของนาย เลตตา เพราะว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจประสบความล่าช้า ถึงแม้รัฐบาลสเปนสามารถหลีกเลี่ยงจากการขอความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อภาครัฐเอง แต่ภาคธนาคารของสเปนก็ได้รับเงินช่วยเหลือ 4 หมื่นล้าน ยูโรจากกองทุนคุ้มครองยูโรโซนในปี 2012 และยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน ในการฟื้นตัว ซึ่งเหมือนกับภาคธนาคารของไอร์แลนด์ โดยไอเอ็มเอฟได้แสดงความชื่นชมต่อความพยายามของสเปนและไอร์แลนด์ในเดือน มิ.ย. แต่ระบุเตือนถึงความเสี่ยงในอนาคต
        ไอร์แลนด์เป็นประเทศที่ประสบความก้าวหน้ามากที่สุดในบรรดาประเทศที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากอีียู-ไอเอ็มเอฟ และเป็นที่คาดกันว่าไอร์แลนด์จะยุติการพึ่งพาเงินช่วยเหลือได้ในช่วงต่อไปในปีนี้ อย่างไรก็ดี ไอร์แลนด์ประสบปัญหาในด้านชื่อเสียง แต่ไม่ใช่ปัญหาในด้านการปฏิบัติตามมาตรการช่วยเหลือ
        มีการเปิดเผยบทสนทนาทางโทรศัพท์ในปี 2008 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักการธนาคารบางคนในธนาคารแองโกล ไอริชดูถูกการตัดสินใจของรัฐบาลไอร์แลนด์ในการค้ำประกันหนี้สินของแองโกล ไอริช และนักการธนาคารกลุ่มนี้ยังแสดงอาการล้อเลียนเยอรมนีด้วย
        ในขณะที่ปัญหาในไอร์แลนด์มีแนวโน้มที่จะสิ้นสุดลง แต่ปัญหาในโปรตุเกส, กรีซ และไซปรัสก็อยู่ในระดับที่น่ากังวล และปัญหาในอิตาลีกับสเปนก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะจางหายไป
        หน่วยงานส่วนใหญ่ของอียูจะลดการทำงานลงในเดือนส.ค.เพราะเป็นช่วงพักร้อน อย่างไรก็ดี สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่า วิกฤติยูโรโซนจะไม่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น