xs
xsm
sm
md
lg

เรียบร้อย CTH-บอร์ด อสมท หาสูตรซื้อบอลพรีเมียร์ลีกจนได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุธรรม แสงประชุม ประธานบอร์ดอสมทคนสนิทนช.ทักษิณ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการรายวัน - “สุธรรม” ชูซื้อพรีเมียร์ลีกแบบปีต่อปีผ่าน 2 แนวทาง ตกลงทุนปีละ 42.5 ล้านบาท พร้อมแบ่งรายได้โฆษณาร่วมกันสยบปัญหาความไม่พอใจของกลุ่มสหภาพแรงงานฯ ฟากซีทีเอชรับได้พร้อมดีลที่โมเดลนี้ ด้านเอนกเดินหน้าลุยดิจิตอลทีวี กำ 2,000 ล้านบาทเบนเข็มประมูลช่องเอสดี แทนเอชดี

นายสุธรรม แสงประทุม ประธานกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (4 ก.ค.) ได้มีการประชุมวาระพิเศษสืบเนื่องจากการประชุมบอร์ด อสมท วันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการให้คณะทำงานดูแลเกี่ยวกับการซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันพรีเมียร์ลีกทางฟรีทีวีไปเจรจากับทางบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) เพิ่มเติม เพื่อความพอใจของทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะกลุ่มสหภาพแรงงาน อสมท ที่มีความกังวลใจ โดยสรุปออกมาว่าจะใช้วิธีการซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกแบบปีต่อปี โดยนำเสนอแก่ซีทีเอช 2 ทางเลือก คือ

1. จ่ายค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดให้ซีทีเอชคู่ละ 2.5 ล้านบาท และแบ่งรายได้จากโฆษณาร่วมกันในอัตราส่วน 50:50 ไม่รวมรายได้จากรายการไฮไลต์ เบื้องต้นคาดว่าจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ซีทีเอชราว 42.5 ล้านบาท (ยังไม่รวมรายได้จากการแบ่งรายได้โฆษณาร่วมกัน)

2. จ่ายค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดให้ซีทีเอชคู่ละ 2 ล้านบาท และแบ่งรายได้จากโฆษณาร่วมกันในอัตราส่วน 50:50 รวมรายได้จากรายการไฮไลต์ เบื้องต้นคาดว่าจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ซีทีเอชราว 34 ล้านบาท (ยังไม่รวมรายได้จากการแบ่งรายได้โฆษณาร่วมกัน)

อย่างไรก็ตาม ผลสรุปในที่ประชุมครั้งนี้ถือเป็นโมเดลการซื้อลิขสิทธิ์ที่ลงทุนน้อยกว่าเดิมเพื่อให้ อสมท มีภาระการลงทุนน้อยที่สุด โดยจะนำเสนอต่อทางซีทีเอชอย่างเร็วที่สุด คาดว่าภายใน 1 วันจะรู้ผล ทั้งนี้ ในส่วนของผู้สนับสนุน สปอนเซอร์โฆษณาที่เคยพรีเซลไปแล้วพบว่ามีรายได้แน่นอนไม่ต่ำกว่า 200-250 ล้านบาทนั้นเชื่อว่าจะไม่กระทบ เพียงแต่จะต้องปรับโมเดลการขายโฆษณาให้สอดคล้องกับแผนการซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกใหม่เท่านั้น และหากทางซีทีเอชตอบรับในโมเดลการซื้อพรีเมียร์ลีกครั้งนี้ มั่นใจว่าตัวแรกรายได้ในปีแรกจะทำได้ไม่ต่ำกว่าเดิม คือปีละไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ด้านนายกฤษณัน งามผาติพงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โมเดลใหม่ที่ทาง อสมท จะนำเสนอมานั้น ทางซีทีเอชมองว่าเป็นโมเดลที่รับได้ และน่าจะจบดีลการซื้อขายได้ด้วยดี

ด้านนายสุระ เกนทะนะศิล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษจากซีทีเอชทางฟรีทีวีด้วยว่า ในความเป็นจริงคน อสมท ต้องการให้มีคอนเทนต์พรีเมียร์ลีกเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ทางช่องโมเดิร์นไนน์ แต่ต้องเป็นราคาที่เหมาะสม เพราะคอนเทนต์พรีเมียร์ลีกจะเป็นขั้นแรกที่จะทำให้ อสมท ก้าวสู่ความแข็งแกร่งในเรื่องคอนเทนต์กีฬาต่อไปได้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการแข่งขันของฟรีทีวีในปัจจุบันที่ต้องมีเอกลักษณ์ และความแข็งแกร่งของคอนเทนต์แต่ละประเภท จากปัจจุบันต้องยอมรับว่า อสมท สู้เรื่องละคร และข่าวกับฟรีทีวีช่องอื่นได้ยากแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกอังกฤษครั้งที่ผ่านมาไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ แต่ครั้งนี้ต้องจ่าย เนื่องจากโอกาสในการหารายได้ และมีฟรีทีวีหลายช่องให้ความสนใจร่วมถ่ายทอดสดทำให้เกิดการแข่งขันตามมา บวกกับ อสมท เองเป็นผู้ที่เข้าไปพูดคุยกับทางซีทีเอชเป็นอันดับต้นๆ จึงต้องมีการพูดคุยแบบเจาะลึกมากขึ้นจนนำมาถึงเรื่องการซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้ แต่โดยส่วนตัวมองว่า อสมท กำลังเข้าสู่การแข่งขันทางบรอดคาสติ้งอย่างเต็มตัว ถ้าไม่กล้าลงทุนก็จะแข่งขันยาก ซึ่งการซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกครั้งนี้อาจจะทำให้คน อสมท เกิดความกังวลไปบ้าง
 
อสมท เงินไม่ถึง ถอดใจประมูลแค่ 3 ช่องเอสดี
นายสุระ เกนทะนะศิล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนการเข้าร่วมประมูลดิจิตอลทีวีหลังจากนี้ อสมท อาจจะต้องโฟกัสที่ 3ช่องแบบเอสดีเป็นหลัก เนื่องจากการประมูลช่องดิจิตอลทีวีแบบเอชดีมีต้นทุนสูงกับเม็ดเงินประมูลเริ่มต้นที่ 1,500 ล้านบาทต่อช่อง อีกทั้งการประมูลช่องเอชดียังมีกฎออกมาห้ามทำช่องข่าวอีกด้วย ซึ่ง อสมท มีสำนักข่าวไทยอยู่ในมือ และต้องการทำช่องข่าว จึงต้องมีการเปลี่ยนแผนการประมูลใหม่ โดยจะทำเรื่องเสนอบอร์ด อสมท อีกครั้ง โดยการเน้นประมูลช่องดิจิตอลทีวีแบบเอสดี 3 ช่องแทนจากงบเดิมที่วางไว้ก็จะลดลงตามความเหมาะสม

“ดิจิตอลทีวีแบบเอชดีมีคู่แข่งมาก และแต่ละรายก็มีเม็ดเงินที่หนากว่าเรา ส่วนรูปแบบเอสดีก็มีผู้ที่สนใจเช่นกัน แต่ถือเป็นกลุ่มที่ยังสามารถหารายได้จากโฆษณาได้ดีกว่าแบบเอชดี ที่มองว่าถึงแม้ประเทศไทยจะมีการเติบโตของบรอดคาสติ้งเพิ่มขึ้นมา แต่ในแง่เม็ดเงินโฆษณาอาจจะทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะสภาพเศรษฐกิจ ค่าเงินยูโร และสถาการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่ดี ทำให้เม็ดเงินโฆษณาหลักจากบริษัทข้ามชาติไม่โต จะโตที่กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีโอกาสได้ลงโฆษณามากขึ้นแทน แต่ในแง่มูลค่าอุตสาหกรรมโฆษณาแสนกว่าล้านบาทอาจจะไม่โตมากนัก ดังนั้นการลงทุนดิจิตอลทีวีแบบเอชดีจึงมองว่าไม่คุ้ม”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประมูลดิจิตอลทีวีในวันจริงนั้น อสมท มีงบประมาณเบื้องต้นไว้ที่ 2,000 ล้านบาทสำหรับแนวทางเลือกในการประมูลทีวีดิจิตอล 3 ทาง คือ 1. ช่อง HD 1 ช่อง-ช่อง SD 1 ช่อง และช่องเด็ก 1 ช่อง 2. ประมูลเฉพาะช่อง SD ทั้ง 3 ช่อง และ 3. ช่อง HD วาไรตี้ 1 ช่อง และช่อง SD วาไรตี้ 1 ช่องเท่านั้น โดยทุกทางเลือกต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงการประมูลจริงอีกครั้ง หากช่อง HD มีราคาสูงเกินไป อสมท จะเน้นประมูลในช่อง SD วาไรตี้เป็นหลักก่อน ส่วนในช่อง HD จะมีการอัปเกรดภายหลังจากนี้ 2-3 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น