- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของยูโรโซนเดือน มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 48.3 จาก 47.2 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนียังคงต่ำว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคบริการของภูมิภาคยังคงหดตัว แต่หดตัวในอัตราที่ผ่อนคลายลง โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของธุรกิจบริการในเยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ส่วนประเทศสำคัญอื่น เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส ยังอยู่ในภาวะหดตัวรุนแรง
- S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือคู่ค้าระยะยาวของธนาคารใหญ่ 3 แห่ง คือ บาร์เคลส์ ดอยช์แบงก์ และเครดิตสวิสกรุ๊ป จากระดับ A+ เป็น A มุมมองมีเสถียรภาพ หลังจากประเมินว่า สถาบันการเงินเหล่านี้เผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากกฎระเบียบในภาคการเงินที่เข้มงวดขึ้น,ภาวะตลาดเงินตลาดทุนของโลกมีความเปราะบาง รวมถึงเศรษฐกิจยุโรปอยู่ในภาวะชะงักงันและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากวิกฤตหนี้
- นายเจอโรเม พาวเวลล์ หนึ่งในผู้ว่าการของเฟด เปิดเผยว่า ยังมีความเป็นไปได้มากที่เฟดจะสนับสนุนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ส่วนเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2%
- ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐสิ้นสุดวันที่ 29 มิ.ย. ปรับตัวลดลง 5,000 ราย มาอยู่ที่ระดับ 343,000 ราย ส่งสัญญาณว่าตลาดแรงงานกำลังปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
- ADP เปิดเผยว่า ภาคเอกชนทั่วสหรัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 188,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. จากระดับ 135,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. โดยธุรกิจภาคบริการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 161,000 ตำแหน่ง
- ยอดค้าปลีกของออสเตรเลียเดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% หลังจากที่ปรับตัวลดลงในเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงปรับตัวเพิ่มน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ เนื่องจากผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าภายในบ้าน และรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินรูปีอ่อนค่าใกล้แตะระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ โดยเงินรูปีอ่อนค่ามาแล้วเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน หลังจากนักลงทุนต่างชาติยังคงถอนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเดือน มิ.ย. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไปแล้วกว่า 7.1 พันล้าน ดอลล่าร์ เนื่องจากมีความกังวลต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
- ธนาคารรายใหญ่ 4 แห่งของจีน ได้เพิ่มวงเงินปล่อยสินเชื่ออีก 2.30 แสนล้านหยวนในเดือนมิ.ย. จากระดับ 6.67 แสนล้านหยวนในเดือนพ.ค. เนื่องจากในเดือนมิ.ย. รัฐบาลท้องถิ่นและภาคพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น
- สำนักวิจัย ธ.ซีไอเอ็มบี เปิดเผยว่า เฟดจะยังไม่สามารถลดวงเงินมาตรการ QE ในปีนี้และยุติในปี 2557 ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบันยังไม่เข้าสู่ช่วงขยายตัวอย่างที่แท้จริงตามที่คาดการณ์ไว้ และยังมองว่าเฟดมีมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจดีเกินไป เช่น คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.7% ในปีนี้ และ 3 - 3.5% ในปี 2557 ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าปีนี้จะขยายตัวเพียง 1.9% และ 2.6% ในปี 2557
- ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เตือนว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกควรเพิ่มงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมให้มากขึ้น เนื่องจากช่องว่างระหว่างรายได้ถือเป็นความเสี่ยง โดยประเทศที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจแบ่งปันไม่เท่าเทียมกัน จะส่งผลต่อความเป็นปึกแผ่นทางสังคม ก่อให้เกิดความไม่สงบและนำไปสู่ความขัดแย้งได้
- นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผอ.อาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีธนาคารจากญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ เข้ามาหารือเรื่องการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (Subsidiary) รายใหม่ในไทย โดย ธปท.จะออกใบอนุญาติให้กับ Subsidiary รายใหม่ได้ไม่เกิน 5 ราย โดยจะคัดเลือกนาคารต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดและจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนมิ.ย. 2557
- นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เปิดเผยว่า ไม่ห่วงเรื่องเงินไหลออกในช่วงนี้ เพราะเป็นเงินที่ไหลเข้ามาก่อนหน้านี้ เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น และมองว่ายังไม่กระทบกับระบบโดยรวม และยังเชื่อมั่นว่าสภาพคล่องในระบบยังมีเพียงพอ
- นายธีระ ภู่ตระกูล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย แนะนำแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สิน หลังจากหนี้ภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น โดยให้เริ่มจากการสำรวจภาระหนี้ ว่ามีสัดส่วนหนี้ที่ก่อให้เกิดความมั่งคั่ง (หนี้กู้ยืมบ้านหรือหนี้เพื่อการศึกษาบุตร) และหนี้ไม่ก่อให้เกิดความมั่งคั่ง (หนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคล) จำนวนเท่าใดโดยจำนวนเงินผ่อนชำระต่อเดือนไม่ควรเกิน 36% ของรายได้ หากสูงเกินกว่านี้อาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตได้ ขณะเดียวกันควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ใช้จ่ายตามความจำเป็นและทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อให้ทราบรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง
- SET Index ปิดที่ 1,443.57 จุด ลดลง -20.41 จุด หรือ -1.39% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 50,984.88 ล้านบาท โดยตลาดผันผวนตลอดทั้งวัน และปิดตลาดในแดนลบตามตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชีย โดยนักลงทุนยังคงมีความกังวลต่อเศรษฐกิจในยุโรปที่ยังคงชะลอตัว รวมถึงปัจจัยในประเทศที่เริ่มมีการออกมาปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ
- นายเจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 15-20% จากเดิมที่คาดไว้ 15-30% โดยสาเหตุที่มีการปรับลงเนื่องมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัว หลังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนเหมือนในปี 2555 รวมถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ก็ยังไม่มีความชัดเจน
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงในทุกช่วงอายุ โดยเปลี่ยนแปลงช่วงระหว่าง 0.00% ถึง -0.04 โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิที่ระดับ 388 ล้านบาท และยังคงเป็นการขายต่อเนื่องในพันธบัตรรุ่นอายุมากกว่า 1 ปี
- อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกสอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.2% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 55 เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลเรื่องความคืบหน้าของมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งหากความต้องการพันธบัตรรัฐบาลลดลง นั่นหมายความว่าการที่โปรตุเกสจะกลับเข้ามาถึงแหล่งเงินทุนในตลาดตราสารหนี้อีกครั้งอาจต้องใช้เวลานานออกไป
- สิงคโปร์ เปิดตัวตลาดซื้อขายโลหะมีค่าพร้อมด้วยบริการซื้อขายทองคำแท่งระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย โดยตรงเป็นครั้งแรกของโลก โดยร่วมมือกับบริษัท Certis CISCO ซึ่งทำหน้าที่เก็บรักษาทองคำแท่งให้กับลูกค้าแต่ละราย และตั้งเป้าจะคว้าส่วนแบ่งการตลาด 10-15% ของการซื้อขายทองคำแท่งทั่วโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า รวมถึงช่วยสนับสนุนตลาดซื้อขายทองคำในประเทศและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เทรดเดอร์ และสถาบันต่างๆ