ASTVผู้จัดการรายวัน - ปูนซิเมนต์ไทยจ่อปรับเป้ายอดขายปีนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ตั้งไว้ 4.35 แสนล้านบาท เนื่องจากยอดขายและกำไรธุรกิจปิโตรเคมีในไตรมาส 2 นี้สูงเกินความคาดหมาย คาดครึ่งปีหลังยอดขายในทุกกลุ่มธุรกิจยังดีต่อเนื่อง แย้มเตรียมเทคโอเวอร์โรงงานผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซียและเวียดนาม ส่วนโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่เวียดนามดีเลย์การจัดหาเงินกู้ไปเป็นปี 57 แทน ชี้ค่าเงินจะเป็นอาวุธสำคัญในการแข่งขันต่างชาติ
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)(SCC) กล่าวว่า บริษัทฯเตรียมปรับเป้ายอดขายปีนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 4.35 แสนล้านบาท เนื่องจากผลการดำเนินงานในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีในไตรมาส 2 นี้ดีกว่าเป้าหมายที่คาดไว้มาก เนื่องจากปริมาณกำลังการผลิตใหม่ที่เข้ามาในตลาดมีจำกัด และความต้องการใช้เม็ดพลาสติกปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากสต็อกน้อย ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์พลาสติกปรับตัวสูงขึ้นขณะที่ราคาแนฟธาอ่อนตัวลงตามทิศทางราคาน้ำมัน ส่งผลให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบแนฟธา (สเปรด)เม็ดพลาสติกPP ช่วงนี้อยู่ที่ 633 เหรียญสหรัฐ/ตัน และสเปรดเม็ดพลาสติกPEอยู่ที่ตันละ 585 เหรียญสหรัฐ ซึ่งรายได้จากธุรกิจปิโตรเคมีคิดเป็น 50%ของรายได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ แนวโน้มผลดำเนินงานในครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นไปตามวัฎจักรของธุรกิจ โดยไตรมาส 3 นี้จะเป็นช่วงหน้าขายของปิโตรเคมี เพราะเป็นช่วงฤดูเกษตรของจีนทำให้มาร์จินของธุรกิจดี และไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของจีนที่ส่งสัญญาณชะลอตัวแต่อย่างใดเพราะส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ยังทรงตัวในระดับสูง อีกทั้งธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างในปีนี้คาดว่าจะโตขึ้นจากปีก่อน 10% เช่นเดียวกับธุรกิจกระดาษที่เติบโตดีขึ้นด้วย เว้นกระดาษขาวที่ได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของกระดาษนำเข้าที่ทะลักเข้ามา ทำให้ราคาอ่อนตัวลง
ขณะเดียวกัน ยอดขายสินค้าในอาเซียนก็เติบโตขึ้นด้วยโดยเฉพาะส่งออกปูนซีเมนต์ไปกัมพูชา และพม่า ทำให้บริษัทฯส่งออกสินค้าจำหน่ายในอาเซียนคิดเป็น 42%ของการส่งออกรวม 28-29%ของยอดขาย ซึ่งค่าเงินของประเทศในอาเซียนอ่อนค่าลง แต่ค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้น ทำให้บริษัทฯรับรู้รายได้ในรูปเงินบาทได้น้อยลงบ้าง ส่วนตลาดภายในประเทศเองก็ยังมีสัญญาณการเติบโตที่ดี แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในระดับ 4.5% แต่ก็เป็นระดับที่สูง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ซึ่งยอดขายหลักของบริษัทฯมาจากตลาดภายในประเทศถึง 65%
"ไตรมาส 2 นี้ ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเดิมที่ปกติธุรกิจเคมีภัณฑ์จะอ่อนตัวลงในไตรมาสนี้ แต่เนื่องจากซัปพลายใหม่มีจำกัด และมีโรงงานปิโตรเคมีได้หยุดการผลิตไป รวมทั้งสต็อกสินค้าที่น้อย ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์พลาสติกในไตรมาสนี้ขยับสูงขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงทำให้วัตถุดิบ คือแนฟธาต่ำลง ส่งผลให้สเปรดเม็ดพลาสติกดีขึ้นกว่าไตรมาสที่แล้วอีก คงต้องรอดูว่าไตรมาส 3 จะเป็นอย่างไร"
ส่วนแผนการลงทุนของบริษัทฯในอาเซียนยังเป็นไปตามเป้าหมายเดิม โดยจะลงทุนเฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเข้าซื้อกิจการต่างๆในภูมิภาคนี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทฯมีรายได้โตดีขึ้นมาก โดยเร็วๆนี้ บริษัทฯมีแผนที่จะซื้อกิจการโรงงานผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซีย มูลค่าหลายร้อยล้านบาท คาดว่าบริษัทจะรับรู้รายได้จากการซื้อกิจการดังกล่าวในไตรมาส 4 นี้ รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการโรงงานกระดาษบรรจุภัณฑ์ในเวียดนามด้วย และเตรียมขยายการลงทุนโรงงานปิโตรเคมีที่บริษัทฯเข้าไปถือหุ้นในอินโดนีเซียด้วย
นายกานต์ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ มูลค่า 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐที่เวียดนามว่า โครงการดังกล่าวยังเดินหน้าอยู่ โดยได้ข้อสรุปเกี่ยวกับฟีดสต็อก โครงสร้างผู้ถือหุ้น และขณะนี้เตรียมตั้งที่ปรึกษาการเงิน เพื่อหาแหล่งเงินกู้สำหรับโครงการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีหน้า ล่าช้าจากกำหนดเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายสรุปแหล่งเงินกู้ในปลายปีนี้
ส่วนโครงการตั้งโรงปูนซีเมนต์ในต่างประเทศนั้น ขณะนี้ ส่วนขยายกำลังการผลิต(Debottle neck) โรงปูนซีเมนต์ในกัมพูชาคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ และกำลังก่อสร้างโรงปูนซีเมนต์แห่งที่ 2 กำลังการผลิตอีก 9 แสนตัน/ปี ในกัมพูชา เพื่อรองรับความต้องการใช้ปูนที่เติบโตสูงขึ้น ซึ่งปีนี้บริษัทฯส่งออกปูนไปขายที่กัมพูชา 5 แสนตัน ส่วนการตั้งโรงปูนขนาด 1.8 ล้านตัน/ปีในอินโดนีเซียก็อยู่ระหว่างการก่อสร้างเช่นกัน
นอกจากนี้ รัฐบาลพม่าได้อนุมัติการลงทุนโครงการผลิตปูนซีเมนต์ขนาด 1.8 ล้านตัน/ปีของบริษัทฯ โดยเตรียมเสนอคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับแผนงานและเม็ดเงินลงทุนที่แน่นอนภายในช่วงเดือนก.ค.นี้ เนื่องจากเป็นโครงการที่ยื่นขอลงทุนเมื่อ 3ปีที่แล้ว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงและระบบโลจิสติกส์เอง
นายกานต์ กล่าวต่อไป นับจากนี้ค่าเงินจะมีส่วนสำคัญในการเป็นเครื่องมือหรืออาวุธในการแข่งขันอย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดี โดยจะต้องมีการร่วมมือกันทุกฝ่าย โดยเห็นว่าแนวโน้มค่าเงินบาทไทยจะต้องแข็งค่าขึ้นกว่านี้อีก ซึ่งในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะ 28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ พบว่ากระทบต่อผู้ส่งออกค่อนข้างมาก โดยนค่าเงินบาทที่เหมาะสมอยู่ในระดับ 30-31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐซึ่งจะส่งผลดีต่อบริษัทฯ รวมไปถึงผู้ส่งออก และควรจะอยู่ในระดับที่เทียบเคียงกับภูมิภาคด้วย