บพ.เตรียมเพิ่มข้อ กม.ควบคุมอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ใน พ.ร.บ.การเดินอากาศฯ ฉบับใหม่ “พฤณท์” เผยแนวโน้มเพิ่มจำนวนต้องจัดเข้าระบบ ควบคุมการขออนุญาตบินและความสูง หวั่นกระทบทำอันตรายการบินปกติ พร้อมเร่ง บพ.สรุปแผนพัฒนาอู่ตะเภาเป็นเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเสนอ ครม.เพิ่มเตรียมพร้อมด้านกายภาพ เผยกองทัพเรือยันขีดความสามารถรับได้อีก 10 ปีไม่มีปัญหา
พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งทางอากาศ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ว่า ขณะนี้กรมการบินพลเรือน (บพ.) ได้พิจารณาแนวทางการออกกฎหมายสำหรับควบคุมอากาศยานไร้คนขับ (UAV : Unmanned Aerial Vehicle) เพื่อบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ....ฉบับใหม่ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากเป็นเรื่องที่ พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ไม่เคยมีการควบคุมไว้ โดยอากาศยานไร้คนขับจะใช้ในกิจการทหาร การสำรวจพื้นที่ สภาพภูมิอากาศและทรัพยากรทางธรรมชาติ และกีฬา บังคับด้วยวิทยุจากพื้นดิน ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น โดยการออกกฎหมายเพื่อความปลอดภัย โดยจะควบคุมเรื่องความสูง การขออนุญาตก่อนขึ้นบิน และการจัดเส้นทางบิน เนื่องจากการบินของอากาศยานไร้คนขับอาจจะละเมิดเส้นทางบินอื่นและเกิดอันตรายได้
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ บพ.เร่งสรุปแผนการปฏิบัติแนวทางการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเพื่อรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากที่มติ ครม.เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ให้กระทรวงคมนาคมศึกษาเพื่อลดความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง โดย บพ.จะพิจารณาทางกายภาพเรื่องการขยายขีดความสามารถของรันเวย์ อาคารผู้โดยสาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ระบบเติมน้ำมันอากาศยาน และมาตรฐานความปลอดภัย
ทั้งนี้ ทางกองทัพเรือ (ทร.) ชี้แจงว่า ปัจจุบันให้บริการเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว โดยมีเที่ยวบินประจำของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สและสายการบินเช่าเหมาลำจากรัสเซียใช้บริการ และขณะนี้ได้รับอนุมัติงบปรับปรุงจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน วงเงิน 239.80 ล้านบาท เพื่อพัฒนาขีดความสามารถเพิ่ม ซึ่งจะรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารได้อีกเกือบ 10 ปี
ส่วนปัญหาความคับคั่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น ล่าสุดได้รับความร่วมมือจากกองทัพอากาศ (ทอ.) และกองทัพเรือ (ทร.) ซึ่งอนุญาตให้ใช้เส้นทางบินที่สงวนไว้ในด้านความมั่นคง ทำให้มีเส้นทางบินในห้วงอากาศเพิ่ม เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-ภูเก็ต เพิ่มจุดละ 2 เส้นทาง จากเดิม 1 เส้นทาง รวมเป็นจุดละ 3 เส้นทาง ส่วนเส้นทางบินผ่านอ่าวไทย ขณะนี้ทางกองทัพเรืออยู่ระหว่างพิจารณา หากได้รับอนุญาตจะทำให้เพิ่มเส้นทางบินไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลียได้ ซึ่งจะมีความชัดเจนในเดือนกรกฎาคมนี้
น.ต.ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) กล่าวว่า ภายใน 2 เดือนนี้ทาง บวท.และ บพ.จะประกาศเส้นทางบินใหม่ ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือกับกองทัพอากาศในการใช้ประโยชน์พื้นที่ห้วงอากาศบริเวณกำแพงแสน ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายความหนาแน่นของเที่ยวบินและลดการบินวนรอได้เนื่องจากมีเส้นทางบินเพิ่ม โดย บวท.สามารถจัดการบินแบบขนานในห้วงอากาศให้มีความคล่องตัวมากขึ้น