“คมนาคม” งัด พ.ร.บ.เดินอากาศฯ พ.ศ. 2521 เอาผิดวิทยุชุมชนเถื่อนส่งคลื่นรบกวนการสื่อสารระหว่างนักบินกับหอบังคับการบินและการปล่อยบั้งไฟโคมลอย ขู่บทลงโทษหนักถึงประหารชีวิตหากทำให้เครื่องบินเกิดอุบัติเหตุ ชี้ที่ผ่านมาโทษเบาเลยผุดเป็นดอกเห็ดกว่า 5,000 แห่ง ด้าน บพ.เตรียมลงพื้นที่เจรจากองทัพเรือขอใช้อู่ตะเภาเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบลดแออัดน่านฟ้าและสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง เผยขนส่งทางอากาศบูม โตปีละ 10%
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการด้านการขนส่งทางอากาศครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ว่า ได้ติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาความปลอดภัยในการเดินอากาศ กรณีวิทยุชุมชนรบกวนการบิน และการจุดบั้งไฟ, ปล่อยโคมลอย ซึ่งมีความเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นต่ออากาศยานได้ โดยถือเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ควบคุมการเดินอากาศในการติดต่อสื่อสารกับนักบิน ในขณะที่ปัจจุบันปริมาณการจราจรทางอากาศมีมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงจะมีการบังคับใช้กฎหมายคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 และ 8 ซึ่งจะมีบทลงโทษที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงแก่อากาศยาน
โดยก่อนหน้านี้ บวท. และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ร่วมมือกันเข้าแก้ปัญหากรณีวิทยุชุมชนส่งสัญญาณรบกวนการบินในระดับหนึ่งแต่ไม่สามารถลดจำนวนลงได้ กระทรวงคมนาคมและกรมการบินพลเรือน (บพ.) ได้ร่วมมือกันหาเครื่องมือเพื่อให้การเดินอากาศเป็นไปด้วยความปลอดภัย โดยที่ผ่านมาเมื่อมีการตรวจพบคลื่นวิทยุชุมชนรบกวนการบินยังไม่เคยมีการฟ้องร้อง แต่หลังจากนี้หากตรวจเจอคลื่นรบกวนจะฟ้องดำเนินคดี โดยหากเป็นการทำให้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกด้านการบินเสียหายต้องระวางโทษจำคุก 1-15 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-30,000 บาท หากเป็นการปล่อยวัตถุแปลกปลอม เช่น โคมลอย บั้งไฟ ไปขัดขวางโดยตรงต่ออากาศยานให้เกิดความเสียหายต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี
น.ต.ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) กล่าวว่า สถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศมีกว่า 7,000 แห่ง โดยเป็นสถานีที่จดทะเบียนมีใบอนุญาตถูกต้องประมาณ 2,000 แห่ง ซึ่งจะออกอากาศและมีกำลังส่งในขอบเขต เสาส่งสัญญาณมีความสูงตามกำหนด โอกาสส่งสัญญาณรบกวนการบินน้อยมาก และหากมีการรบกวนจะประสานเพื่อให้หยุดออกอากาศและปรับปรุงระบบใหม่ ส่วนอีกกว่า 5,000 แห่งไม่มีใบอนุญาตและส่วนใหญ่ส่งสัญญาณรบกวนการบินเนื่องจากอุปกรณ์การออกอากาศไม่ได้มาตรฐาน เสาส่งสัญญาสูงมาก ที่ผ่านมาหากตรวจพบจะผิดในเรื่องคลื่นความถี่ ซึ่งบทลงโทษไม่หนัก แต่จากนี้จะผิดในส่วนของ พ.ร.บ.การเดินอากาศฯ ด้วยซึ่งรุนแรงมากขึ้น
โดยสถิติปี 2555 นักบินแจ้งได้รับสัญญาณการรบกวนจากวิทยุชุมชนกว่า 2,804 ครั้ง ส่วนปี 2556 (ม.ค.-เม.ย.) รับแจ้งแล้วกว่า 1,000 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการจราจรทางอากาศจะเติบโตปีละ 10% ซึ่ง บวท.ได้เจรจากับกองทัพอากาศและกองทัพเรือเพื่อขอใช้พื้นที่ฝึกบินกำแพงแสนและอู่ตะเภาขยายเส้นทางการบินของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองไปยังภาคเหนือ ใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์ คาดว่าจะรองรับปริมาณเที่ยวบินที่เติบโตได้อีก 5 ปีข้างหน้า
บพ.เจรจากองทัพเรือใช้อู่ตะเภาเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ
ด้านนายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดี บพ.กล่าวว่า การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบตามมติ ครม.นั้น เบื้องต้นทหารเรือยืนยันไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากจะกระทบต่อความมั่นคง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างเทอร์มินัลใหม่รองรับผู้โดยสาร 300 คนต่อชั่วโมง ซึ่งในวันที่ 21 มิถุนายนนี้จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการใช้พื้นที่เพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเป็นไปได้หรือไม่ พร้อมทั้งหารือกับกองทัพเรือเพื่อเตรียมพร้อมกรณีกองทัพเรือเปลี่ยนแปลงนโยบายจะสามารถดำเนินการได้ทันที ปัจจุบันอู่ตะเภาช่วยลดความแออัดของสุวรรณภูมิได้มาก โดยรองรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากรัสเซีย, ยุโรปเป็นจำนวนมาก ส่วนการย้ายสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ไปให้บริการที่สนามบินดอนเมืองช่วยลดเที่ยวบินที่สุวรรณภูมิลง 200 เที่ยวบินต่อวันจากที่มี 800 เที่ยวบินต่อวัน แต่ขณะนี้ปริมาณเที่ยวบินที่สุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นเป็น 900 เที่ยวบินต่อวันแล้วเพราะการขยายตัวของเที่ยวบินเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อมีช่องว่างให้ ดังนั้นดอนเมืองจะต้องพัฒนาเต็มรูปแบบโดยใช้ 3 อาคารผู้โดยสารรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 37 ล้านคนต่อปีเหมือนก่อนหน้าที่จะถูกปิด