xs
xsm
sm
md
lg

ปรับแผนผลิตไฟฟ้าใหม่ปี 73 ดันใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 24%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ
“สนพ.” เผยแนวทางการปรับพีดีพีใหม่จะลดสัดส่วนการใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟลงเมื่อสิ้นสุดแผนปี 2573 จาก 54% เหลือ 32% เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 14% ถ่านหินเป็น 24% ส่อแววถอดนิวเคลียร์ออกหรือทิ้งไว้ท้ายแผนแค่ 3% ขณะที่ TBEC เร่งขยายผลิตไฟเฟส 2 จากน้ำเสียโรงสกัดน้ำมันปาล์ม

นายสุเทพ เหลี่ยมสิรเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนพ.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี 2013 (2555-2573) ฉบับใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจเบื้องต้นมีแนวคิดปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงการผลิตจากพีดีพี 2010 เมื่อสิ้นสุดแผนปี 73 ก๊าซธรรมชาติจาก 54% เป็น 32% ถ่านหิน 13% เป็น 18% ซื้อไฟต่างประเทศจาก 10% เป็น 19% พลังงานหมุนเวียน 14% เป็น 24% และอื่นๆ ที่เหลือ โดยพีดีพีจะทำประชาพิจารณ์อย่างรอบคอบและเปิดให้ทุกส่วนแสดงความเห็นโดยเฉพาะนิวเคลียร์ว่าจะใส่ในแผนเดิม 3% ในท้ายแผนหรือตัดออกเลย

“ตามแผนนี้จะเพิ่มโรงไฟ้าถ่านหินอีก 5,600 เมกะวัตต์ รวมของเดิมเป็นหมื่นเมกะวัตต์ ซื้อไฟจากเพื่อนบ้านเพิ่มโดยเฉพาะพลังน้ำจากลาว พลังงานหมุนเวียนเน้นการผลิตจากหญ้าเนเปียร์อีกหมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดจะต้องรอสรุปผลขั้นสุดท้ายอีกครั้ง แต่แผนภาพรวมก็จะทำให้ลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีลงไปด้วย” นายสุเทพกล่าว

นายผจญ ศรีบุญเรือง เจ้าหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทไทย ไบโอแก๊สเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (TBEC) กล่าวว่า บริษัอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) เพื่อดำเนินโครงการส่วนขยายเฟส 2 ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียจากโรงสกัดน้ำมันปาล์มกำลังผลิต 4.2 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนกว่า 190 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ใน 3-4 เดือนนี้ และจะจ่ายไฟเข้าระบบภายในปี 2558

“กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดว่าถ้ากิจการพลังงานที่ลงทุน 200 ล้านบาทขึ้นไปการอนุญาต รง.4 จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งก่อนหน้านั้นยื่นไปใช้เวลาเราเลยดึงกลับมาแล้วปรับการลงทุนเพื่อลดขั้นตอน ซึ่งผมคิดว่าขั้นตอนการขอ รง.4 ถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงการมาก” นายผจญกล่าว

สำหรับการผลิตไฟจากก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงสกัดน้ำมันปาล์มเฟสแรกมีกำลังผลิต 2.8 เมกะวัตต์ ลงทุน 157 ล้านบาท เมื่อรวมกับเฟส 2 จะทำให้มีกำลังผลิตไฟเพื่อจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 7 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นการผลิตไฟจากน้ำเสียโรงสกัดปาล์มใหญ่สุดในประเทศไทย ซึ่งทั้งสองเฟสได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเฟสละ 10 ล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น